Readspread.com

News and Article

worldbank แจง การลดข้อจำกัดในการย้ายถิ่นของแรงงาน

การบริหารจัดการการย้ายถิ่นแรงงานในอาเซียนให้ดีขึ้นจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและสวัสดิการของแรงงานนโยบายและหน่วยงานด้านการย้ายถิ่นควรทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการด้านเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น

รายงานจากธนาคารโลกเล่มล่าสุดระบุว่า การลดข้อจำกัดในการย้ายถิ่นของแรงงานจะช่วยให้แรงงานมีสวัสดิการดีขึ้น และช่วยเร่งการรวมภาคเศรษฐกิจในภูมิภาคให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย

รายงานการย้ายถิ่นสู่โอกาสพบว่า การย้ายถิ่นภายในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างปีพ.ศ. 2538-2558 ส่งให้มาเลเซีย สิงคโปร์และไทยกลายเป็นศูนย์กลางของแรงงานย้ายถิ่นกว่า 6.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของจำนวนแรงงานย้ายถิ่นทั้งหมดในอาเซียน

เมื่อปีพ.ศ. 2558 มีเงินส่งกลับประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นจำนวนถึง 62,000 ล้านบาท  มูลค่าเงินส่งกลับประเทศต่อจีดีพีของฟิลิปปินส์คิดเป็นร้อยละ 10 เวียดนามคิดเป็นร้อยละ 7 เมียนมาร์คิดเป็นร้อยละ 5 และกัมพูชาคิดเป็นร้อยละ 3

การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนแรงงานย้ายถิ่นในภูมิภาค ปีพ.ศ. 2538-2558

ที่มา องค์การสหประชาชาติ (2558)
หมายเหตุ คำย่อที่ใช้ในแผนภูมิหมายถึงประเทศในภูมิภาคดังนี้ EAP คือ เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก MENA คือ ตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ ECA คือ ยุโรปและเอเชียกลาง LAC คือ อเมริกากลางและแคริบเบียน และ SSA หมายถึง แอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซาฮารา

แรงงานย้ายถิ่นในอาเซียนที่ทักษะต่ำและมักไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนได้ย้ายถิ่นฐานเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรม การเพาะปลูก และบริการในครัวเรือน  ถึงแม้ว่าจะยังมีงานที่มีรายได้สูง แต่ทว่าแรงงานมักไม่สามารถได้รับประโยชน์จากโอกาสที่ยังมีอยู่นี้ได้ แม้ว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้เริ่มขั้นตอนอำนวยการเคลื่อนย้ายแรงงานแล้วก็ตาม แต่กฏข้อบังคับยังคงครอบคลุมแค่กลุ่มวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และวิชาชีพด้านการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมกันแค่ร้อยละ 5 ของจำนวนงานที่มีทั้งหมดในภูมิภาคนี้

“หากเลือกนโยบายที่ถูกต้องแล้ว ประเทศผู้ส่งออกแรงงานสามารถได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแรงงานที่ย้ายไปทำงานนอกประเทศในขณะที่สามารถปกป้องแรงงานของตนที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ด้วย ในขณะที่ประเทศที่รับแรงงานย้ายถิ่น แรงงานที่ย้ายถิ่นจากประเทศอื่นสามารถช่วยลดภาวะการขาดแคลนแรงงานและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ยั่งยืน นโยบายที่ไม่เหมาะสมและหน่วยงานที่ด้อยประสิทธิภาพจะทำให้ภูมิภาคนี้พลาดโอกาสที่จะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการย้ายถิ่นแรงงาน” ดร. ชูเดียร์ แชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว

โดยภาพรวมแล้ว ขั้นตอนการย้ายถิ่นทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนยังจัดว่าเข้มงวด  อุปสรรคในเรื่องขั้นตอนการจ้างงานที่มีค่าใช้จ่ายสูงและมีขั้นตอนมาก การกำหนดจำนวนแรงงานต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศ และนโยบายการจ้างงานที่เข้มงวดจำกัดทางเลือกในการจ้างงานและส่งผลกระทบต่อสวัสดิการ การที่นโยบายมีข้อจำกัดเข้มงวดมากนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคิดที่ว่าการที่มีแรงงานย้ายถิ่นหลั่งไหลเข้าประเทศนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่รับแรงงานเหล่านี้ แต่ทว่าข้อค้นพบจากการศึกษากลับตรงกันข้ามกับความคิดนี้  จากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองพบว่าในมาเลเซียนั้น หากจ้างแรงงานย้ายถิ่นทักษะต่ำเข้าประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จะเพิ่มจีดีพีที่แท้จริงของประเทศได้ร้อยละ 1.1 ในขณะที่ผลการวิเคราะห์ล่าสุดของไทยพบว่าหากไม่มีแรงงานย้ายถิ่นในกำลังแรงงานของประเทศจะทำให้จีดีพีของไทยลดไปร้อยละ 0.75

“ไม่ว่าประเทศไหนที่แรงงานต้องการจะย้ายไปในอาเซียนก็ตาม พวกเขาก็ประสบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐานซึ่งแพงกว่าค่าจ้างต่อปีหลายเท่าตัว การปรับปรุงกระบวนการย้ายถิ่นสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้กับแรงงานที่ต้องการย้ายถิ่นและช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถตอบสนองกับความต้องการด้านตลาดแรงงานได้ดีขึ้น” ดร. เมาโร เทสเทอเวอร์ด นักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มงานการคุ้มครองทางสังคมและงาน และผู้เขียนหลักของแรงงานกล่าว

การเคลื่อนย้ายแรงงานมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการย้ายถิ่นช่วยให้แรงงานจากประเทศที่มีรายได้น้อยแต่ละคนมีโอกาสที่จะเพิ่มรายได้ของตัวเอง รายงานนี้ประมาณการณ์ว่าหากลดอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายแรงงานได้นั้นจะช่วยปรับปรุงสวัสดิการของแรงงานได้ถึงร้อยละ 14 ในส่วนของกลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูง หรือหากคิดรวมแรงงานทุกกลุ่มจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 29

นโยบายที่สามารถนำมาดำเนินการเพื่อปรับปรุงให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้ยังมีอีกหลายประการ ควรมีการสอดส่องดูแลบริษัทจัดหางานมากขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค โดยฟิลิปปินส์ได้พัฒนาระบบสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีประสิทธิภาพสามารถเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ได้ ส่วนอินโดนีเซียควรปรับปรุงการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทำให้ขั้นตอนในกระชับมากขึ้น  ในขณะที่เวียดนามสามารถใช้ยุทธศาสตร์การย้ายถิ่นเป็นแนวทางให้การการปฏิรูปได้  การย้ายแรงงานออกนอกประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อยเช่น กัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมาร์ ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ทำขั้นตอนให้สะดวกมากขึ้นจะลดค่าใช้จ่ายนี้ได้

ประเทศผู้รับแรงงานสามารถนำมาตรการเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเต็มที่ มาเลเซียสามารถปรับปรุงนโยบายเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการด้านเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงแก้ไขระบบเก็บภาษีแรงงานและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศผู้ส่งออกแรงงาน ส่วนประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์จากการนำแรงงานย้ายถิ่นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบและลดค่าใช้จ่ายในขั้นตอนเข้าประเทศ สิงคโปร์ที่มีการพัฒนาระบบการย้ายถิ่นที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเชี่ยวชาญมากนั้น ควรให้ความสนใจในเรื่องการให้สวัสดิการแก่แรงงานย้ายถิ่นอย่างต่อเนื่อง

การย้ายถิ่นสู่โอกาสจัดทำโดยกลุ่มงานการคุ้มครองทางสังคมและงานของธนาคารโลก หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้ที่ www.worldbank.org/eap และ www.worldbank.org/jobsanddevelopment.

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.