Readspread.com

News and Article

แบรนด์ท้องถิ่นจะบินไประดับโลก

การสร้างแบรนด์ (Branding) เป็นการสร้างภาพจำหรือเรียกได้ว่าเป็นการจำกัดความภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้าไปสู่สายตาผู้บริโภค หลายแบรนด์มีสินค้าที่มีจุดขายและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว แต่การสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายยังไม่ตอบโจทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มต่างประเทศด้วยแล้ว การสร้างแบรนด์เป็นสิ่งจำเป็นมาก
ditp

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กิจกรรมบ่มเพาะ แบรนด์ไทย IDEA LAB 3 ภายใต้แนวคิด From Local Wisdom to Global Market จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 3 มี วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการสามารถนำกลยุทธ์ด้านแบรนด์มาสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากเพื่อผลักดันให้เป็นหนึ่งในปัจจัยในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการส่งออก (Local to Global)

โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริม แบรนด์สินค้าและบริการไทยสู่ตลาดโลก หรือ MOC 4i : Thai Brand Heroes Program ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการและสร้างเครือข่ายและการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านกลยุทธ์การสร้างแบรนด์แบบเข้มข้นแก่ผู้ประกอบไทย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในยุคปัจจุบันเพราะผู้บริโภคหลายประเทศทั่วโลกยินดีที่จะมีประสบการณ์ร่วมกับ แบรนด์ก่อนตัดสินใจซื้อ

ดังนั้นหลายแบรนด์จึงเร่งเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ทางด้านนี้ เช่นเดียวกับ 3 แบรนด์ไทยตัวแทนจากผู้เข้ารอบสุดท้ายของการพัฒนาศักยภาพเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดสากลใน “กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทย รุ่นที่ 3 IDEA LAB 3:Thai Brand Incubation Program” ซึ่งได้แชร์ประสบการณ์ของจุดเปลี่ยนของความคิดเพื่อสร้างแบรนด์ให้โดดเด่น

“SANSARD”

วิศรุต ทวีวรสุวรรณ และ มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ ผู้ก่อตั้งแบรนด์สานสาด ซึ่งเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์กลุ่ม พรีเมียมที่ทำจากเตยปาหนันจังหวัดตรัง เหมาะสำหรับลูกค้าที่มองหาความแปลกใหม่ ร่วมสมัย กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการแบรนด์ต้องการการเสริมศักยภาพ กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้และภาพลักษณ์ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำ และด้วยความที่แบรนด์มีจุดเริ่มต้นจากความต้อการช่วยเหลือชุมชนร่วมด้วย

เมื่อต้องการจะก้าวไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นต้องมีความชัดเจนในการกำหนดผลประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยหลังจากได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยครั้งนี้ ทำให้มองภาพการวางกลยุทธ์แบรนด์เพื่อทำตลาดที่ชัดเจนขึ้น สามารวางโครงสร้างของแบรนด์โดยจัดสัดส่วนของการสร้างแบรนด์สินค้าและส่วนที่เป็นโครงการช่วยเหลือออกจากกัน

“เราต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นรู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องการขยายโอกาสทางการค้าและโปรเจกท์พิเศษอื่นๆโดยวางแผนที่จะจำหน่ายไปยังลูกค้าต่างประเทศผ่านช่องทางเว็บไซต์และแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักในต่างประเทศของ SARNSARD คือยุโรป เราได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับแนวคิดของการออกแบบในเชิงลึก ด้วยจุดเด่นของสินค้ามีความผสมผสานกันระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและรูปลักษณ์ที่ดูทันสมัยลายสานที่มีสีสัน ลูกค้าสามารถนำไปใช้งานและประยุกต์ใช้กับการแต่งตัวที่หลากหลายได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือทำให้เห็นมุมมองจากคนภายนอกที่มองเข้ามาในแบรนด์แล้วตีความแนวคิดออกมา ทำให้เรารู้ว่ายังมีมุมมองหรือมิติอื่นๆ ที่สามารถดึงมาเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์และสินค้าต่อได้ ซึ่งในช่วงตอบคำถามในกิจกรรมเวิร์คช้อป (Workshop)เป็นการสะท้อนตัวเองว่าเรารู้จักแบรนด์ตัวเองดีพอขนาดไหน และส่วนใดที่ยังขาดการเติมเต็ม สำหรับสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ที่ผ่านมาก็มีการปรับตัวโดยออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กลง สามารถตอบโจทย์ความต้องการตามสถานการณ์และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น”

“JOJO”

พิชชา สุตันตั้งใจ เจ้าของแบรนด์โจโจ้ วัย 14 ปีจากจังหวัดเลย ซึ่งเป็นกลุ่มนวัตกรรมสินค้าเกษตรและอาหารกล่าวว่าแบรนด์ โจโจ้ จุดประกายจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาพักโฮมสเตย์ของที่บ้านชื่นชอบในอาหารเช้าที่จัดให้ และต้องการซื้ออีกเมื่อกลับไปประเทศของตนแล้ว แต่ด้วยความที่เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดอาหารสุขภาพ ยังขาดประสบการณ์ ยังไม่มีบทเรียนที่จะนำมาใช้วางแผนกลยุทธ์การตลาดให้ครอบคลุม จึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมIDEA LAB 3 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ช่วยทำให้เราได้พบกับผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำแนวคิดต่างๆ

หลังจากร่วมกิจกรรมพบว่าแบรนด์ยังต้องเสริมรูปแบบของผลิตภัณฑ์แนวสุขภาพที่มีอยู่ให้หลากหลายมากขึ้น เช่น ขนมปัง หรือผลิตภัณฑ์ทาขนมปังที่เน้นสุขภาพดี แต่ยังอร่อยได้เหมือนเดิม

“ในยุคโควิด-19 ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพถือว่าได้เปรียบ แต่ต้องมีการสื่อสารให้ตรงกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยต้องพัฒนาตัวเองปรับตัวให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า แบรนด์ JOJO เน้นการใช้วัตถุดิบจากผลไม้ไทยที่อร่อยและปลอดภัยและต้องการช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้จากการทำเกษตรแบบอินทรีย์ซึ่งดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันตลาดโลกมองเรื่องเศรษฐกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise กันมากขึ้น

ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายเราคือกลุ่มรักสุขภาพทั้งแบบครอบครัวและวัยทำงาน เรามองไปที่ตลาดยุโรป อเมริกา และเอเชีย เพราะประเทศในทวีปเหล่านี้ รู้จักประเทศไทยผ่านการท่องเที่ยว ความเป็นเมืองร้อนที่มีผลไม้และอาหารอร่อยเป็นปัจจัยหนึ่งให้เราถูกเลือกแม้ว่าตอนนี้เรายังขายในประเทศ 100% แต่มีการติดต่อจากบริษัทต่างประเทศ เช่น อเมริกากลาง สิงคโปร์เข้ามา รวมถึงนักท่องเที่ยวจากอเมริกาซึ่งชื่นชอบผลิตภัณฑ์นี้มาก

สิ่งที่ดีมากจากการร่วมกิจกรรมนี้คือ การได้ฟังรุ่นพี่ที่ผ่านการบ่มเพาะแบรนด์มาแล้วในช่วง success case ทำให้ได้รู้ว่าการนำหลักการและคำแนะนำไปปฏิบัติให้กลายเป็นจริงทำอย่างไร ฟังแล้วมีแรงบัลดาลใจจะทำต่อจนสำเร็จนอกจากนี้ยังคุยกับโค้ชผู้เชี่ยวชาญที่มีหลักการและประสบการณ์ที่ดีมาก ได้เปิดหูเปิดตา รวมถึงได้ฝึกทักษะการแสดงออกและนำเสนองาน โดยจะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการวางแผน และปรับตัวตลอดเวลาให้อยู่ได้กับสังคมและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

“ING-ON”

พิชญา ศรายุทธ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดีเอฟที (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์สบู่สมุนไพรอิงอร ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม เจ้าของสโลแกนสวยจริงอิงอรที่ส่งออกไปหลายประเทศ และเพิ่งคว้ารางวัล PM Export Award 2020 สาขา Best Thai Brand กล่าวว่า เหตุผลที่ทำให้เข้าร่วมกิจกรรมบ่มเพาะครั้งนี้เพราะต้องการพัฒนาต่อยอดให้แบรนด์มีจุดขายที่แข็งแรงขึ้น มีแนวทางในการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรที่น่าเชื่อถือ อีกทั้งต้องการเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่อายุประมาณ 20-25 ปี ที่เป็นกลุ่มคนเมือง

โดยผู้เชี่ยวชาญได้แนะนําให้สร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมารองรับ ปรับภาพลักษณ์บรรจุภัณฑ์ รูปแบบการนําเสนอ และตั้งชื่อแบรนด์ที่ทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงความเป็นไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยไม่กระทบกับแบรนด์หลักและฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่“ปัจจุบันสัดส่วนการขายในประเทศ 95% และส่งออก 5% ซึ่งการทําตลาดต่างประเทศช่วยให้เรามองโลกที่แตกต่างกันได้กว้างขึ้น

บางครั้งสินค้าที่ขายไม่ดีในไทย กลับได้รับความนิยมมากในบางประเทศ ดังนั้นการขยายไปต่างประเทศจะช่วยให้เรากระจายความเสี่ยงของธุรกิจ มีหลายประเทศที่เราเข้าไปทําตลาด อยู่ในช่วงที่นิยมเทรนด์สุขภาพและชอบใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เราจึงเชื่อว่าสบู่สมุนไพรอิงอรยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยายเข้าไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ หัวข้อเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ตนชอบมากที่สุดเพราะบรรจุภัณฑ์คือการสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า และเป็นประสบการณ์แรกที่ลูกค้าได้เห็นและสัมผัสกับสินค้า ทำให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีการทดลองนําสินค้าที่ได้พัฒนาร่วมกับทีมที่ปรึกษา ออกวางจําหน่ายในไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่อไป”

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.