สดร. ดึง คริสโตเฟอร์ โก ติวเข้มเทคนิคการถ่ายภาพดาวเคราะห์
สดร. ดึง คริสโตเฟอร์ โก ติวเข้มเทคนิคการถ่ายภาพดาวเคราะห์หวังสร้างผลงานนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัด Workshop
เทคนิคถ่ายภาพดาวเคราะห์ ดึงกูรูถ่ายภาพดาวเคราะห์ชื่อดังคริสโตเฟอร์ โก (Christopher go)ร่วมเผยเคล็ดลับและประสบการณ์ถ่ายภาพ มีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั่วประเทศและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 60 คน ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 จามจุรีสแควร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา
หวังขยายฐานนักดาราศาสตร์สมัครเล่นในไทยคาดอาจมีบทบาทสำคัญต่อการค้นพบข้อมูลใหม่ๆ ที่จะเกิดประโยชน์ต่อวงการดาราศาสตร์ในอนาคตดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่าการถ่ายภาพดาราศาสตร์นับเป็นศาสตร์และศิลป์ สำหรับภาพมุมกว้าง เช่น ทางช้างเผือกจะเป็นศิลปะมากกว่าเทคนิคเชิงวิชาการ แต่การถ่ายภาพดาวเคราะห์จะใช้เทคนิคทางดาราศาสตร์มากกว่าศิลปะบางภาพนักวิจัยสามารถนำไปใช้ศึกษาการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดีการเปลี่ยนแปลงของเมฆและพายุบนดาวพฤหัสบดี ศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ฯลฯ ได้ ในวันนี้ เราเชิญ คริสโตเฟอร์ โก มาเป็นวิทยากร ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การถ่ายภาพดาวเคราะห์ ผู้มีผลงานการค้นพบจุดแดงเล็กบนดาวพฤหัสบดี จากนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 14 นิ้ว สามารถสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ได้นั้น มีการใช้เทคนิคหรือวิธีการอย่างไร ดาวเคราะห์อยู่ไม่ไกลจากโลกมากและมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ปรากฏการณ์บางอย่างต้องการการติดตามตลอด 24 ชม. เช่น การศึกษาพายุบนดาวพฤหัสบดี รวมถึงการถูกอุกกาบาตหรือดาวหางพุ่งชน ซึ่งกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่มีภารกิจที่หลากหลายและมีการใช้งานอยู่ตลอดจึงไม่สามารถติดตามถ่ายภาพดาวเคราะห์ได้ทุก ๆ วัน
นักดาราศาสตร์สมัครเล่นจึงมีบทบาทสำคัญมากในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์ไม่แพ้ยานสำรวจอวกาศคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้จากกล้องขนาดเล็กและเทคนิคคอมพิวเตอร์ขั้นสูงรวมถึงกล้องถ่ายภาพในปัจจุบันที่มีความไวแสงสูงมาก ทำให้ได้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพดีกว่าภาพถ่ายจากยานอวกาศในยุคก่อนๆเช่น ภาพจากยานไพโอเนียร์ 12 ซึ่งส่งไปสำรวจดาวศุกร์เมื่อปี 2521ภาพถ่ายจากยานดังกล่าวยังสู้ภาพถ่ายของนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกในปัจจุบันไม่ได้ ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการสำรวจอวกาศ เช่น นาซา ได้จัดแคมเปญสำหรับนักดาราศาสตร์สมัครเล่นถ่ายภาพดาวเคราะห์แล้วช่วยกันส่งข้อมูลเข้ามา ตัวอย่างเช่น
ยานอวกาศจูโนที่กำลังโคจรรอบดาวพฤหัสบดีอยู่ในขณะนี้ไม่มีกล้องถ่ายภาพมุมกว้าง ก่อนที่ยานจูโนจะเข้าใกล้ขั้วเหนือของดาวพฤหัสบดีในระยะ 5 พันกิโลเมตรจำเป็นต้องทราบถึงสภาพแวดล้อมมุมกว้างของดาวพฤหัสบดีในขณะนั้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นรวมถึงสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จะมีโอกาสเก็บข้อมูลการสำรวจอวกาศร่วมกับยานอวกาศขนาดใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆเกี่ยวกับดาวเคราะห์ต่อไปในอนาคต
คุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ นักดาราศาสตร์สมัครเล่น หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม กล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมากช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจในธรรมชาติ ท้องฟ้า และดวงดาว นอกจากนี้การเชิญผู้มีประสบการณ์สูงด้านการถ่ายภาพดาวเคราะห์และมีชื่อเสียงระดับโลกอย่างคริสโตเฟอร์ โก มาถ่ายทอดเทคนิคต่างๆ ให้แก่ผู้เข้าร่วม ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมกลับไป สิ่งที่ถ่ายทอดในวันนี้สามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและไม่สามารถหาซื้อได้โดยเฉพาะเทคนิคการถ่ายภาพและซอฟต์แวร์สำหรับใช้ประมวลผลภาพถ่ายดาวเคราะห์โดยส่วนตัวผมมีความสนใจการถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก แต่ในอนาคตผมอาจจะเปลี่ยนไปถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้า เช่นดาวเคราะห์ ก็อาจะเป็นได้ สิ่งสำคัญคือเป็นการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเริ่มต้นถ่ายภาพดาวเคราะห์ได้ด้วยกล้องธรรมดาทั่วไปและผมรู้สึกดีใจมากที่สดร.จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา หวังว่าจะมีกิจกรรมดี ๆ ลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต
คุณตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ นักดาราศาสตร์สมัครเล่น การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์มีหลากหลายประเภท อาทิ การถ่ายภาพวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์ต่าง ๆการถ่ายภาพวัตถุในห้วงอวกาศลึก เช่น เนบิวลา กาแล็กซี การถ่ายภาพปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น จันทรุปราคาสุริยุปราคา การถ่ายภาพวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ เช่น ทางช้างเผือก เป็นต้นล้วนแล้วแต่ต้องใช้พื้นฐานทางดาราศาสตร์เบื้องต้นในการถ่ายภาพซึ่งแต่ละประเภทจะมีเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับผู้ที่สนใจหรือต้องการพัฒนาเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพดาราศาสตร์ ก็สามารถติดตามกิจกรรมต่าง ๆ จากสดร. ได้ ทาง www.facebook.com/NARITpage หรือ www.NARIT.or.th ดร.ศรัณย์ กล่าวปิดท้าย