เปลี่ยนขยะเป็นอนาคต” (Gift for Sharing)
เอ็ม บี เค กรุ๊ป เปลี่ยน “ขยะ” เป็นงานอาร์ตชิ้นเอกของขวัญดี (ต่อใจ) จากไอเดียดีไซเนอร์ดังที่ผลิตโดยน้องๆ เด็กพิเศษ
บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็ม บี เค กรุ๊ป เปิดโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นอนาคต” (Gift for Sharing) โครงการเพื่อสังคมแนวสร้างสรรค์แปลงโฉมกระดาษเหลือใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน และของใช้ประจำวันหลากดีไซน์ จัดเรียงอย่างสวยงามบนคิออสเพื่อชุมชนแห่งแรกในศูนย์การค้า
ดีไซน์ล้วนสมชื่อผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ว้าว” (WOW: Worth of Waste) แต่ไม่ใช่แค่ความกิ๊บเก๋ของผลิตภัณฑ์ ไอเดียก็เลิศปังน่าทึ่งไม่แพ้กัน ทึ่งแรกกับ “วัสดุ” ที่ใช้ประดิษฐ์มาจาก “ขยะเหลือใช้” ทึ่งกว่านั้น เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังเป็นฝีมือของผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา และการได้ยิน จากโรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ พระประแดง จ.สมุทรปราการ
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงมีความพิเศษอย่างยิ่งและเกิดประโยชน์หลายต่อ ทั้งเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลงานที่มีความสวยงามทรงคุณค่าและใช้ประโยชน์ได้จริง โดยไม่ก่อให้เกิดขยะในกระบวนการผลิต (Zero-waste)
ทั้งยังจุดประกายสังคมให้เห็นว่า ขยะใกล้ตัวสามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาออกแบบอย่างสร้างสรรค์และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสได้
เบื้องหลังกว่าจะออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ลิมิเต็ด อิดิชั่นสุดเก๋เพียง 900 ชิ้นเท่านั้น ได้ไอเดียมาจากเหล่า “ดีไซน์เนอร์ชั้นนำ” ไม่ว่าจะเป็น “จักรกฤษณ์ อนันตกุล” กราฟิคดีไซน์เนอร์ชื่อดัง “ธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล” เจ้าของสตูดิโอออกแบบ MOHO Studio และ “พลอยพรรณ ธีรชัย” กับ “เดชา อรรจนานันท์” คู่หูนักออกแบบแห่ง Thinkk Studio ช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆ ดีไซน์เนอร์เลือดใหม่ที่ผ่านด่านนักออกแบบกว่า 200 ทีมเป็น 3 ทีมผู้ชนะที่เข้าประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์และเครื่องประดับจากกระดาษเหลือใช้ “MBK WOW DESIGN AWARDS 2017”
ด้าน คุณพลอยพรรณ ธีรชัย และ คุณเดชา อรรจนานันท์ จาก Thinkk Studio เจ้าของไอเดียผลงาน Kadas ผลิตภัณฑ์ของใช้มีทั้งแท่นวางของ และผลิตภัณฑ์แบบ 2 อิน 1 ซึ่งเป็นแจกันก็ได้หรือจะแยกออกมาเป็นภาชนะวางของกระจุกกระจิก เล่าถึงแนวคิดการออกแบบผลงานจากกระดาษเหลือใช้ว่า “ออกแบบจากขยะโดยไม่สร้างขยะจากขั้นตอนการผลิตผลงาน โดยขึ้นรูปจากแม่พิมพ์รอบๆ ตัว ซึ่งเป็นของใช้ประจำวัน โดยใช้รูปทรงและสีสันจากธรรมชาติ การทำงานค่อนข้างยากและมีความซับซ้อน เพราะต้องสร้างแม่พิมพ์ผลิตภัณฑ์จากกระดาษเหลือใช้ให้มีความสวยงามและต้องทดลองวัสดุที่เหมาะสมในการหล่อหรือขึ้นรูปที่มีความแข็งแรง และใช้งานได้จริง”
ด้านเจ้าของผลงาน Belephant ผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้านจากกระดาษขึ้นรูปเป็นช้าง คุณธนิษฐ์ วชิรปราการสกุล กล่าวถึงการร่วมงานครั้งนี้ว่า “เป็นการผสานระหว่าง Believe ความเชื่อมั่นในฝีมือผู้พิการ และ Elephant หรือช้าง สัตว์ที่อยู่คู่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ผมต้องปรับวิธีคิดใหม่มาใช้การขึ้นบล็อกกระดาษแทนการพับเพื่อให้รูปทรงมีความแข็งแรงขึ้น โดยงานปั้นช้างจากการกระดาษครั้งนี้ได้ทดลองถึง 23 ครั้ง จึงสำเร็จ ขณะเดียวกัน ตนเองรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นผู้ให้จากการสอนน้องๆ โรงเรียนโสตศึกษา ทุ่งมหาเมฆ ฝ่ายเดียว แต่ยังเป็นผู้รับจากการที่น้องๆ ช่วยสอนภาษามือ อีกทั้งการเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมาถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กระดาษที่เหลือใช้และลดขั้นตอนในการรีไซเคิลและลดจำนวนขยะทำให้วงจรของกระดาษยาวนานขึ้น”
ขณะที่ 3 ทีมผู้ชนะเลิศในการประกวดมีวิธีคิดในการออกแบบผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกันโดยจะหาขั้นตอนการทำที่ให้น้องๆ เด็กพิเศษสามารถประดิษฐ์ได้ไม่ยาก และใช้วัสดุที่หาได้ง่ายเพื่อพัฒนางานได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามจากการลงไปคลุกคลีช่วยสอนน้องๆ เด็กพิเศษผลิตสินค้าก็ทำให้พวกเขารู้สึกเกินความคาดหมายกับการทำงานที่รวดเร็วของน้องๆ ที่ไม่เพียงแต่ทำอย่างสนุกและเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังรู้จักประยุกต์วิธีการทำงานที่ช่วยให้เนื้อกระดาษมีความละเอียดยิ่งขึ้นและสร้างสรรค์ลวดลายแบบใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา
ทีม Local Ateliers ซึ่งมีสมาชิก 2 คน ประกอบด้วยคุณสุรัชนา ภควลีธร และคุณแพร สฤษดิชัยนันทา หนึ่งในทีมที่ชนะการประกวดกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบว่า “เจอสมุดที่ถูกปลวกกินด้วยความบังเอิญ ทำให้เห็นถึงความสวยงามที่เกิดเป็นชั้นกระดาษ จึงนำไอเดียนี้ มาปรับใช้ในงานออกแบบเครื่องประดับ โดยผสมผสานกับลวดลายเรียงตัวสลับชิ้นคล้ายเขาวงกตของหินอาเกตเป็นต้นแบบ ทำให้ต้องอาศัยความพิถีพิถันในขั้นตอนการทำค่อนข้างมาก เครื่องประดับแต่ละชิ้น จึงมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และมีเอกลักษณ์เฉพาะที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก”
สำหรับโครงการ “เปลี่ยนขยะเป็นอนาคต” ของเอ็ม บี เค กรุ๊ป เป็นโครงการหลักและโครงการใหญ่ของกิจกรรมเพื่อสังคมของเอ็ม บี เค กรุ๊ป ในปีนี้ โดย คุณกนกรัตน์ จุฑานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เอ็ม บี เค กรุ๊ป มองถึงความสำคัญในปัญหาขยะที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และในฐานะองค์กรขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจในเครือถึง 8 กลุ่มธุรกิจ เราจึงมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรต้นแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์สร้างที่ไม่ใช่เพียงแค่การจัดการขยะ แต่ยังสร้างจิตสำนึกให้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่พนักงาน คู่ค้า ชุมชน และสังคม ถึงผลกระทบวงกว้างที่เกิดขึ้นจากปัญหาขยะ”
ปัจจุบัน “เอ็ม บี เค โซเชียลคอนเนอร์” ตั้งอยู่ชั้น 2 โซนบี ประตูทางเข้า (เชื่อมไปยัง A La Art) และ ชั้น 6 โซนคราฟท์ วิลเลจ ของศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ใครที่สนใจหรือกำลังมองหาของขวัญสุดพิเศษช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้เข้ามาสามารถเยี่ยมชมได้ โดยเริ่มขายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายธันวาคมนี้ หรือสั่งซื้อออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก WowDesign ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะส่งต่อให้มูลนิธิเพื่อสถาบันราชานุกูล นำไปใช้ประดิษฐ์เก้าอี้บำบัดเสริมทักษะและพัฒนาการของผู้บกพร่องทางด้านสติปัญญา