บุหรี่เถื่อนทะลัก รัฐสูญรายได้กว่า 25,000 ล้านบาท นักวิชาการชี้ทบทวนอัตราภาษีบุหรี่ ต้องสู้บุหรี่เถื่อนปราบผู้ค้ารายใหญ่ไปพร้อมกัน

บุหรี่เถื่อน
ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีสรรพสามิตชี้รายได้จากการจัดเก็บภาษีบุหรี่ลดลง มีปัจจัยตัวแปรซับซ้อนมากกว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดย ศ.ดร.อรรถกฤต อธิบายถึงความซับซ้อนของปัญหาภาษีสรรพสามิตบุหรี่ว่า นับตั้งแต่มีการปรับเป็น 2 อัตราในปี 2560 รายได้ของการยาสูบและการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของประเทศไทยก็ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเกิดปัญหาด้านอื่นที่เข้ามาร่วมกับปัญหาด้านการจัดเก็บภาษี จนถึงขั้นที่ภาครัฐต้องนำกลับมาพิจารณาโครงสร้างและอัตราภาษีอย่างจริงจัง และอาจเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะเกี่ยวเนื่องกับหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ ทั้งผู้สูบ เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ การยาสูบแห่งประเทศไทย กรมศุลกากรและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเองก็แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาสรรพสามิตบุหรี่ในประเทศไทย รวมทั้งปัญหาบุหรี่เถื่อน ดังนั้น การศึกษาปัญหานี้ เราต้องศึกษาให้รอบด้านอย่างลึกซึ้งมากกว่าที่จะดูแค่สาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว
การยาสูบไทยต้องพิจารณากลยุทธ์การแข่งขันและโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม
“หากมองในเรื่องปัญหาการจัดเก็บภาษีที่ลดลง เราก็อาจจะนึกถึงแค่สาเหตุจากอัตราการเก็บภาษีเป็นสองอัตราหรือ 2 เทียร์ แต่ที่จริงมีความซับซ้อนที่เราต้องพิจารณามากกว่าที่คิด ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นตั้งแต่การลงมาแข่งขันในกลุ่มบุหรี่ราคาถูกของบุหรี่แบรนด์ต่างชาติ ด้วยชื่อชั้นของแบรนด์ต่างประเทศ เทียบกับบุหรี่ไทย ก็เหมือนเอาสินค้าคนละระดับมาแข่งขันกัน ผู้สูบเห็นแบรนด์นอกทำบุหรี่ราคาถูกมาขาย เขาก็หันไปซื้อมากกว่าบุหรี่ไทย เราก็ต้องหาทางให้การยาสูบแห่งประเทศไทยว่าทำอย่างไรจะพัฒนาสินค้าให้สู้กับแบรนด์ต่างชาติได้หรือหากจะร่วมมือกับบุหรี่ต่างประเทศเพื่อพัฒนาสินค้าได้อย่างไรเพื่อสามารถใช้ใบยาจากประเทศไทยได้ ที่สำคัญคือกลยุทธ์ของการยาสูบฯ ว่าจะเน้นแข่งขันด้วยราคาหรือแข่งขันด้วยการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ เพราะถ้าจะแข่งขันด้วยราคาการยาสูบต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่เพื่อให้องค์กรรองรับกับการแข่งขันที่ราคาถูกจริงๆ เหมือนเช่น สายการบิน low cost นั่นคือความซับซ้อนของปัญหาซึ่งเราจำเป็นต้องดูอย่างต่อเนื่องแล้วเสนอเป็นผลการศึกษา ควบคู่ไปกับแนวทางการพัฒนาบุหรี่ไทย และแนวทางในการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่อย่างมีประสิทธิภาพ”

ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์
ต้องแก้อัตราภาษีบุหรี่ควบคู่ไปกับการปราบปรามผู้ค้ารายใหญ่
ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการทบทวนอัตราภาษีบุหรี่ให้เหมาะสมควบคู่ไปกับการปราบปรามบุหรี่เถื่อนที่ทะลักเข้ามาตามแนวชายแดน และลักลอบขนส่งนำเข้าทางเรือ ซึ่งเราพบว่าในท้องตลาดมีการบริโภคบุหรี่เถื่อนมากถึงร้อยละ 22 ของจำนวนบุหรี่ในตลาดทั้งหมด ซึ่งถือว่าสร้างความเสียหายให้กับภาครัฐหลายหมื่นล้านบาท สร้างผลกระทบด้านสุขภาพให้กับประชาชน เพราะบุหรี่เถื่อนมีทั้งบุหรี่นอกที่ลักลอบนำเข้า และบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าที่พิสูจน์มาตรฐานไม่ได้ อาจมีการปลอมปนสารอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และบุหรี่เถื่อนมีส่วนทำให้เป้าหมายการลดจำนวนผู้สูบไม่กระเตื้องขึ้น
“การป้องกันบุหรี่เถื่อนจึงควรเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ ผมเสนอให้มีการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่มีอำนาจหน้าที่ในการปราบปรามบุหรี่เถื่อนเฉพาะ เหมือนกับเกาหลีใต้ที่มีหน่วยงานตรวจสอบจับกุมการค้าบุหรี่เถื่อนโดยตรง และเร่งสืบสวนหาร้านค้ารายใหญ่ที่มีอิทธิพล และเครือข่ายหนุนหลังโดยใช้กฎหมายปราบปราบการฟอกเงิน เข้ามาบังคับใช้ซึ่งจะทำให้ปัญหาการค้าบุหรี่เถื่อนนั้นหมดไปอย่างรวดเร็ว” ศ.ดร.อรรถกฤตเผย
“ปัญหาเรื่องภาษีบุหรี่ เป็นปัญหาที่มีความยากมากที่สุดปัญหาหนึ่งเพราะมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการจัดเก็บภาษียาสูบอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ ซึ่งทาง สสส. เองแม้จะมีเป้าหมายลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ แต่ก็มีความกังวลด้านการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ลดลงจากการที่รัฐเสียรายได้ในขณะที่จำนวนผู้สูบไม่ได้ลดลงตามเป้าอย่างที่ควรจะเป็น ปัญหาบุหรี่เถื่อนก็เข้ามาอีกทำให้รัฐเสียรายได้มหาศาล
เราต้องเข้าใจก่อนว่าหากรายได้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่จะลดลงไปตามจำนวนผู้สูบที่ลดลง ผมเชื่อว่าทุกคนเข้าใจได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือจำนวนผู้สูบอาจไม่ได้ลดลงจริง เพียงแค่ผู้สูบเปลี่ยนจากสูบของแพงมาเป็นของที่ถูกลง และยังมีบุหรี่เถื่อนที่ราคาถูกกว่าหลายเท่าตัวจูงใจให้ผู้สูบยังคงอยู่ และบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังผิดกฎหมายแต่เข้ามาแทนที่บุหรี่มวน ตามแนวโน้มของประเทศส่วนใหญ่ในโลก ทำให้บุหรี่ของการยาสูบแข่งขันได้ลำบาก และรายได้ที่นำส่งรัฐก็ลดลงตามไปด้วย การปรับเปลี่ยนนโยบายการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพื่อสู้กับปัญหาบุหรี่เถื่อนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนควบคู่กับการเร่งปราบปราม เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายทุกด้านตามที่รัฐตั้งเป้าไว้อย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว
อย่างไรก็ดี คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิต พิจารณาศึกษาทบทวนโครงสร้างและอัตราภาษียาสูบทั้งในระยะปานกลางและระยะยาวเพื่อนำไปสู่โครงสร้างแบบอัตราเดียวในอนาคตที่เหมาะสม เป็นธรรมและคำนึงถึงการแข่งขันในตลาดรวมทั้งการดูแลสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้หน่วยงานด้านการเงินในระดับชาติและระดับโลกอย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย และธนาคารโลก ต่างมีความเห็นที่สอดคล้องกันที่ สนับสนุนการนำโครงสร้างแบบอัตราเดียวในอัตราที่เหมาะสมมาใช้เพื่อตอบโจทย์ด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ รวมถึงด้านการจัดเก็บภาษีของประเทศ
