Readspread.com

News and Article

MASTER ปฏิเสธรับรางวัลเผยกลโกงแจกดะ ยืนหยัดเรื่องความซื่อสัตย์ (Integrity)

กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับแวดวงอุตสาหกรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะด้านศัลยกรรมความงาม เมื่อบริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ MASTER ในนามโรงพยาบาลมาสเตอร์พีช โรงพยาบาลศัลยกรรมชั้นนำของเมืองไทย ปฏิเสธการขึ้นรับรางวัล Global Health Awards 2023 จัดโดย Global Health Asia-Pacific สื่อสัญชาติสิงคโปร์ ที่ล่าสุดได้จัดงานมอบรางวัลไปเมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรม Ritz Carlton บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

นายแพทย์ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) เปิดโต๊ะแถลงถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง รางวัลโกลบอลเฮลธ์ เอเชีย-แปซิฟิก ในอีกมุมที่ไม่เป็นความจริงและห่างไกลจากมาตรฐานการแจกรางวัลระดับนานาชาติ เป็นปาหี่ที่เกิดขึ้นในวงการการรับรางวัลอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ด้วยแผนการตลาด อ้างการแจกรางวัลในสาขาต่างๆ ว่าเป็นที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งที่ไม่มีเกณฑ์มาตรฐานการคัดเลือกหรือกลั่นกรอง ทำได้แม้กระทั่งการเลือกชื่อรางวัลเอง

นพ.ระวีวัฒน์แจงว่า ในการแจกรางวัลไม่ว่ารางวัลอะไรก็ตามหากผมตกลงรับ ผมต้องมั่นใจว่าผมคู่ควร ผมคาดหวังถึงกระบวนการการคัดเลือกและตัดสิน ที่ไม่ใช่การมโนคิดขึ้นมาเอง และบอกว่าคุณได้รับรางวัลนั้นรางวัลนี้ เช่น ควรต้องมีผู้เชี่ยวชาญตัดสิน มีผู้ผ่านเข้ารอบ แล้วถึงจะมีการประกาศรางวัลอย่างเป็นทางการ เพราะแน่นอนว่าการประกาศรางวัลนั้นเอื้อในแง่ของการทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่ได้ ด้วยการมีความสัมพันธ์ที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง เพราะการไปบอกว่าเราดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ ใครๆ ก็พูดได้ แต่การมีรางวัล มีสถาบันที่ให้ข้อเท็จจริง หรือรับรองในมาตรฐานก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

ยกตัวอย่างการมอบรางวัลมิชลินสตาร์ เขามีมาตรฐานการตรวจสอบที่ชัดเจน ทำให้เรารู้ว่าเวลาที่เลือกไปกินอาหารที่ร้านมิชลินสตาร์แล้วการันตีได้ว่าอร่อยจริง ไม่ใช่ไปถึงแล้วไก่กา ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเกิดจากกระบวนการกลั่นกรอง และคัดสรรด้วยมาตรฐานการรับรอง เช่น มิชลินสตาร์มีการส่งคนมากินอาหารที่ร้านนั้นๆ จริง และมากินในฐานะลูกค้าโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้รู้ตัว

เมื่อทาง Global Health Asia-Pacific ติดต่อทีมงานของผมมา โดยมีการพูดถึงการมอบรางวัลในระดับเอเชีย-แปซิฟิกที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยการระบุมาว่าเราได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิงใน 3 รางวัล คือ
-Hair Transplant Clinic of The Year in Asia Pacific
-Breast Augmentation Centre of the Year in Asia Pacific
-Cosmetic and Plastic Surgery Service Provider of the Year in Asia Pacific

“โรงพยาบาลมาสเตอร์พีชเรามีลูกค้าปลูกผมเฉลี่ยวันละ 4 เคส แน่นอนครับว่าศักยภาพขนาดนี้ เราสมควรกับรางวัล ส่วนรางวัลศัลยกรรมหน้าอกในเอเชียแปซิฟิก ถามว่าจริงไหม ก็จริงอีก เพราะที่ผ่านมาเราได้รับรางวัลท็อปการใช้ซิลิโคนเสริมหน้าอกจำนวนสูงสุด เราจึงไม่มีข้อสงสัยอะไรในรางวัลที่เขาบอกว่าโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชมีสิทธิจะได้รับ โดยมีการขอความร่วมมือในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของสื่อโฆษณา ซึ่งเป็นปกติ เนื่องจากเราไม่เชี่ยวชาญ ถ้าต้องไปซื้อสื่อเองที่ประเทศสิงคโปร์ จึงจำเป็นต้องมีเซลล์เอเจนซี่เป็นตัวแทนจัดการให้ โดยเจ้าของหนังสือและเจ้าของรางวัลได้เดินทางเข้ามาพบกับทีมงานของผมพร้อมกับตัวแทนคือคนไทยอีก 2 คน เพื่อนำเสนอและเชิญชวนให้เราเข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลดังกล่าว” นพ.ระวีวัฒน์ เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของปัญหาที่เกิดขึ้น

ความมาแดง โชยกลิ่น ‘รางวัลลวง’ ถูกเปิดเผยขึ้นเมื่อไร

นพ.ระวีวัฒน์ เล่าต่อว่า เราเริ่มสงสัยสักประมาณหนึ่งอาทิตย์ก่อนการจัดงาน ว่าการแจกรางวัลครั้งนี้มี Agenda อย่างไร สามารถเปิดเผยได้ไหมว่าเราจะได้รับรางวัลจริงหรือไม่ เขาก็ว่าเปิดเผยรางวัลไม่ได้ แต่เราจะได้รับรางวัลในกลุ่มนี้ๆ นะ จนในที่สุดกำหนดการจัดงานก็มาถึง ก่อนวันเดินทางไปรับรางวัลที่บาหลี ผมได้รับทราบจากการไลฟ์สดของคลินิกแห่งหนึ่ง ว่าเขาเป็นผู้ได้รับรางวัลชื่อใกล้เคียงกับเรา สมมติว่าเป็นรางวัล Leader in Cosmetic ซึ่งไม่รู้ว่าจู่ๆ รางวัลดังกล่าวโผล่มาจากไหน เพราะผู้จัดงานไม่เคยพูดถึงชื่อรางวัลนี้มาก่อน โอเคครับ ชื่อภาษาอังกฤษอาจแค่คล้ายกัน แต่แปลเป็นไทยแล้วคือชื่อรางวัลเดียวกัน แล้วทำไมเขาถึงเปิดเผยชื่อรางวัลได้ก่อนโดยไม่ต้องรอการประกาศผล

ถึงตรงนี้เราชักเริ่มเอะใจ จึงขอลงไปดูหน้างาน ปรากฏห้องจัดงานในโรงแรมหกดาวเล็กกว่าห้องที่คนทั่วไปใช้จัดงานแต่งงานเสียอีก พื้นที่แค่หนึ่งในสี่ของห้องบอลรูมขนาดเล็ก ไม่นับจำนวนโต๊ะกาลาร์ดินเนอร์ซึ่งมีอยู่แค่สองแถว จำนวนเก้าอี้ก็มีเท่าจำนวนคนที่มาร่วมรับรางวัล นับได้เพียงไม่กี่สิบ จึงเข้าไปตรวจสอบดูจำนวนคนกดไลค์กับฟอลโลเวอร์ในเพจ Global Health Asia-Pacific ปรากฏว่าเพจนี้ถูกเปลี่ยนชื่อมาถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งล่าสุดเมื่อปี 2022 ก็เพิ่งเปลี่ยนชื่อไป แปลว่าเพจนี้มีแนวโน้มสูงว่าจะถูกซื้อมา หรือเว็บไซต์เองก็มียอดออร์กานิกส์โกลธเป็นศูนย์ รวมทั้งงานที่จัดขึ้นที่บาหลี มีป้ายชื่องานอยู่แค่สามป้าย

“จินตนาการว่าถ้าให้ผมขึ้นไปรับรางวัล พอกลับถึงเมืองไทย จู่ๆ วันหนึ่งผมเกิดเอารางวัลที่ได้ไปคุยโม้กับลูกค้า แล้วเขาขุดขึ้นมาว่าไอ้รางวัลที่หมอระวีวัฒน์ไปรับมาเป็นรางวัลที่ใครมีเงินก็ซื้อได้ แล้วผมจะไปเหลืออะไร” นพ.ระวีวัฒน์ กล่าว

อะไรคือความคับข้องใจกับรางวัลดังกล่าว

คุณหมอ ‘โคนันยอดนักสืบ’ ชี้แจงว่า ต้องถามหาจรรยาบรรณของคนที่ให้รางวัลครับ แน่นอนว่าควรต้องมีมาตรฐานหรือเกณฑ์การวัด การตรวจสอบที่น่าเชื่อถือ ไม่ใช่ว่าฉันขอขายของ ให้เธออุดหนุนจ่ายค่าโฆษณาเพิ่มอีกหน่อยนะ แล้วฉันจะเชียร์เธอให้ นั่นกลายเป็นว่าเราตกอยู่ในกระบวนการหลอกลวงของเขานะครับ เพราะมีการซื้อสื่อเพื่อจะให้ได้รับรางวัล

มีการจัดงานเพื่อจะได้ขึ้นไปถ่ายรูปบนเวที แน่นอนว่าทุกคนที่ได้รางวัลสุดท้ายแล้วก็ต้องเอารูปไปโปรโมตในสื่อต่างๆ และปลายทางก็คือเอารางวัลไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าเชื่อถือกับลูกค้า ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือปิดการขายในที่สุด ซึ่งต้องบอกว่าในกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ในทั่วโลกหรือสายงานอื่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ที่ผิดคือกระบวนการได้มาซึ่งรางวัล ผมมองว่าเราจำเป็นต้องมีมาตรฐานในการตรวจสอบและกลั่นกรอง

ที่ผมคำนึงถึงคือสุดท้ายปลายทาง ลูกค้าของเราจะรู้สึกอย่างไร ถ้ารางวัลดังกล่าวมันไม่เป็นความจริง วันนี้ผมจึงขอแชร์และบอกกล่าวในเรื่องราวของรางวัลดังกล่าวกับทุกคน การที่ผมจ่ายเงินไปครึ่งล้านเพื่อได้ขึ้นไปรับรางวัลที่ไม่มีมาตรฐานมันยุติธรรมกับลูกค้าของเราหรือ และเมื่อผมถามเจ้าของรางวัลไปตรงๆ คำตอบที่ผมได้รับคือ…I don’t care Thailand.”
ประโยคดังกล่าวคือฟางเส้นสุดท้ายที่นายแพทย์ระวีวัฒน์ตัดสินใจวอล์กเอาต์ ขอกลับมาตั้งหลักทบทวนใหม่

ยอมรับว่าผมอึ้ง มี 3 สถานการณ์ที่ต้องเลือกคือ หนึ่ง รับรางวัลไปเถอะ เราจ่ายค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ลงสื่อไปแล้ว ก็แค่แอคท่าถ่ายภาพเอาไปลงโปรโมทกับลูกค้า แกล้งหลับตาสองข้างไปเลย ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และถ้าผมขึ้นรับรางวัลกลับมา ทีมงานที่โรงพยาบาลมาสเตอร์พีชก็คงไม่มีใครรู้หรอก พวกเขาคงดีใจและเอาชื่อรางวัลนี้ไปคุยอวดกับลูกค้า หรือ สอง ไม่รับรางวัล และไม่บอกต่อถึงเหตุผลที่ไม่รับ เพราะถ้าบอกข่าวนี้ออกไปก็เหมือนเราเสียรู้ กับสถานการณ์ที่สาม คือไม่รับรางวัล และบอกต่อให้ทุกคนรับรู้

เหตุผลที่ไม่รับเพราะผมรับไม่ได้กับคุณค่าของตนเองที่ถูกทอนลงในเรื่องความไม่ตรงไปตรงมา และการขึ้นรับรางวัลดังกล่าวยังเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สื่อเจ้าของรางวัลดังกล่าวในปีหน้า สามารถจะเอาชื่อโรงพยาบาลมาสเตอร์พีชไปลงประชาสัมพันธ์ เอาชื่อไปอยู่ในลิสต์คนได้รับรางวัลในปี 2023 เพื่อต่อยอดไปขายรางวัลกับคลินิกหรือโรงพยาบาลแห่งอื่นที่อาจตกเป็นเหยื่อรายต่อไป ผมได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้วคิดว่าเราไม่ควรขึ้นรับรางวัล มาสเตอร์ควรมีจุดยืน ซึ่งถ้าผมบอกว่าตัวเองเป็นคนดีต่อสังคมจริง การที่ผมออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวพูดคุยออกสื่อในวันนี้นี่ละที่เป็นข้อพิสูจน์ความเป็นคนดีได้ดีมากที่สุด

บทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนี้

นพ.ระวีวัฒน์บอกกับทีมงานของตนเองว่า ‘ผิดพลาด’ กับ ‘ผิดคาด’ ไม่เหมือนกัน “ความ ‘ผิดพลาด’ คือไม่ได้ดู และไม่ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน แต่ ‘ผิดคาด’ คือดูแล้วนะ แต่บังเอิญมันยังมีอะไรที่นอกเหนือไปกว่านั้นอีก ซึ่งผมได้ทำหน้าที่ตรวจสอบให้แล้ว โดยการขอดูรายละเอียดการมอบรางวัลในทันทีที่บินถึงบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ชื่อรางวัลโอเค ‘Global Health Awards 2023’ สถานที่จัดงานก็โอเค จัดในโรงแรมหกดาว ดูน่าเชื่อถือ แม้จะเลือกจัดในมุมอับมุมหนึ่งของห้องจัดเลี้ยงขนาดเล็กก็ตาม
แต่ที่รับไม่ได้เลยคือการเข้าประเมินสถานที่จริง การไม่มีคณะกรรมการตัดสิน ไม่มีกระบวนการในเชิงลึกทางการตลาด การสอบถามผู้ใช้บริการจริง ไม่มีวิธีการโหวต หรือกระบวนใดเลยที่เป็นมาตรฐานในการมอบรางวัล ผมขออนุญาตไม่เปิดเผยชื่อคลินิก และชื่อโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในไทย รวมถึงสายการบินที่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในงานประกาศรางวัลครั้งนี้ เพราะทุกคนอาจมีศักยภาพสมควรกับรางวัลนั้น

ซึ่งถ้าผมเป็นเจ้าของรางวัล ผมอาจจะแอบส่งคนมาเป็นลูกค้าเพื่อสอบถามราคาสักสามรอบ ว่าราคาเหมือนเดิมไหม หรือถามจากซัพพลายเออร์ที่ขายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ว่า ที่นี่มียอดการใช้งานในปริมาณที่สูงจริงหรือไม่ นี่คือกระบวนที่ง่ายดายมากเลยครับ แต่เขาไม่คิดทำ และที่เด็ดไปกว่านั้นเมื่อเข้าไปท้วงติง ปรากฏวิธีการแก้ไขปัญหาและคำตอบจากผู้จัดงานที่ได้นายแพทย์ระวีวัฒน์ได้รับคือ I’ll Service you คุณได้ 3 รางวัลใช่ไหม เดี๋ยวคุณไปเลือกเพิ่มมาอีก 1 รางวัล อะไรก็ได้เดี๋ยวเขาจะตั้งชื่อรางวัลให้ ผมยิ่งงงไปกันใหญ่ ว่าให้ผมเลือกได้เองเลยหรือ เขาบอกคุณคิดเองได้เลย”

คดีนี้จะเกิดการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นหรือไม่

“ไม่ใช่ว่าท้าทาย ผมเชื่อว่ามันมีกฎหมายว่าถ้าเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนเราทำได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือผมไม่ยอมให้ต่างประเทศมาเอาเปรียบ อาศัยช่องว่างของคำว่า Asia-Pacific มาใช้ทำมาหากิน
เฉพาะในส่วนของมาสเตอร์ เราตัดสินใจว่าต้องรีบออกมาพูด เพราะไม่อย่างนั้นพอจบงานที่อินโดนีเซีย เขาก็จะเริ่มหาสปอนเซอร์รายใหม่ แล้วจะมีอีกกี่คลินิก กี่โรงพยาบาลที่เขาเอาชื่อไปเคลม เพราะท้ายที่สุดคนที่หลงเชื่อก็คือลูกค้าที่ต้องโดนเหมือนเราโดน
ผมชอบการแข่งขัน มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราดีขึ้น และดีขึ้นในทุกๆ วัน เรียกว่าเราแข่งกับตัวเอง แต่ถ้าเมื่อไหร่เกิดการแข่งขันโดยที่ไม่ต้องแข่ง การได้อะไรมาโดยที่ไม่ต้องขวนขวาย ผมว่ามันไม่มีคุณค่า และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผมไม่ชอบชนะใคร โดยที่ผมไม่ได้พยายาม” นพ.ย์ระวีวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.