Readspread.com

News and Article

ว่าด้วยเรื่อง “ด่าง”

ในปี 2564 เป็นปีที่สังคมไทย มีค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับคำว่า”ด่าง” ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะ เรื่องการปลูกต้นไม้ใบด่างที่กลายเป็นเทรนด์ติดอันดับสินค้าขายดีของปีนี้
พลูด่าง

“ด่าง” คำเดียวโดดๆ ในคำแปลของราชบัณฑิตมีความหมายถึง
1.นํ้าขี้เถ้าที่เกรอะหรือแช่ไว้ มีรสกร่อย สำหรับทำยาและกัดสิ่งของ
2.เป็นดวง เป็นจุด หรือเป็นปื้นผิดกับสีพื้น เช่น วัวด่าง มือด่าง, มีสีจางกว่าสีเดิมเป็นแห่ง ๆ เช่น ผ้าด่าง.
3.ในทางวิทยาศาสตร์ คือ สารประกอบจำพวกไฮดรอกไซด์ของโลหะแอลคาไล ซึ่งละลายนํ้าได้ดี มีรสฝาด ถูกมือลื่นคล้ายสบู่

แต่หากรวมกับคำอื่นก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไปบ้างเช่น

“พลูด่าง” หมายถึงพืชชนิดหนึ่งทีใบมีสีแตกต่างผสมกันในใบเดียว นอกจาก “พลูด่าง” แล้วในยุคพ.ศ.2564 ผู้คนก็นิยมเลี้ยงต้นไม้ที่มี “ใบด่าง” ไม่ว่าจะเป็น มะม่วงใบด่าง ใบบัวด่าง หรือ ต้นกล้วยหลังบ้านที่มีใบด่าง พืชอะไรก็ได้ที่มีใบด่างพวกเขานิยมหมด ผมเคยมองว่าเป็นแค่ต้นไม้ที่สีใบผิดปรกติ ต้นไม้ป่วยโรคใบด่าง ต้นไม้ที่เห็นได้ตามป่าเขาไปจนถึงริมถนนที่เคยถอนทิ้งแล้วทิ้งอีก

จนกระทั่งวันหนึ่งก็มีกลุ่มคนรักต้นไม้มาปลุกปั้นให้มีชื่อเสียง จนมีราคาค่าตัวแพงหลักหมื่นหลักแสน ถ้าคิดในแง่ดีก็คงทำให้คนหันมาปลูกต้นไม้กันมากขึ้น แต่จะยั่งยืนเพราะรักต้นไม้จริง หรือมองเป็นแค่สิ่งที่มีราคาควรค่าแก่การลงทุนไปตามกระแสหรือเปล่า คงเป็นอีกเรื่องที่ต้องใช้เวลาดูกันต่อไป

“ด่างพร้อย” หมายถึงมี มลทิน มัวหมอง ไม่บริสุทธิ์ ใช้กับบุคคลที่เคยมีประวัติไม่ดีมาก่อนเช่น ผู้ที่เคยค้ายาเสพติด ไม่เหมาะสมที่จะมาเป็นข้าราชการ หรือนักการเมือง เพราะเป็นผู้มีประวัติด่างพร้อย

“ด่างทับทิม” เป็นชื่อแร่ธาตุชนิดหนึ่ง (โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต) นำมาละลายน้ำให้มีฤทธิ์เป็นเบสอ่อน สำหรับล้างผักผลไม้ ให้สะอาด เมื่อพูดถึง “ด่างทับทิม” เราอาจจะนึกถึงสิ่งอื่นที่มีคำว่าทับทิมอยู่ด้วยเช่น “ทับทิมกรอบ” ทำมาจากแห้วหั่นชิ้นเล็กผสมกับแป้งมัน เอามาทำเป็นขนมหวาน หรือผลไม้ที่ชื่อ “ทับทิม” ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง หรืออีกคำคือ “พลอยทับทิม” ที่หมายถึงอัญมณีสีแดงชนิดหนึ่ง (Ruby) และในบางครั้งเราก็นำเอา “ปลาทับทิม” มานึ่งมะนาวรับประทาน ถึงจะมีคำว่าทับทิม เหมือนกัน แต่ก็เป็นคนละอย่างกัน เวลาใครพูดถึงทับทิม ต้องฟังดีๆว่าหมายถึงทับทิมอะไรกันแน่

คำว่า “ด่าง” เรายังเอามาเป็นชื่อเรียกสัตว์อีกด้วย เช่น “ไอ้ด่างเกยชัย” กับ “ไอ้ด่างบางมุด” จระเข้ยักษ์กินคนที่ต.บ้านเกยชัย กับ คลองบางมุด ในอดีต บางทีเราก็เรียกสุนัข ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีชื่ออย่างเป็นกลางว่า “ไอ้ด่าง” ก็ได้เหมือนกัน แล้วในเมื่อเราใช้คำว่า “ด่าง” มาเรียกเป็นชื่อสัตว์ได้ แล้วเราจะใช้เรียกชื่อคนได้ไหม ขอตอบว่าได้เพราะไม่มีข้อห้าม แต่ไม่เหมาะสม

“แม้ว่าคนผู้นั้นจะเป็นคนที่มีประวัติ “ด่างพร้อย” เราก็ไม่นิยมเรียกเขาว่า “ไอ้ด่าง” แต่จะใช้คำอื่นที่แสดงถึงพฤติกรรมของเขาแทน ซึ่งพ่อไม่แนะนำให้เรียก เพราะคนในสังคมไม่นิยมเรียกกันและทำให้เราดูเป็นคนหยาบคายอีกด้วย

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.