ทำไมหมอดูบอกเวลา มฤตยูย้ายราศี ไม่ตรงกัน
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2566 ดาวมฤตยูย้ายราศีในรอบ 7 ปี จากราศีเมษ สู่ ราศีพฤษภ แต่ยังมีความสับสนเรื่องช่วงเวลาระหว่าง 21.44 น. กับ 22.02 น. กันแน่ หมอโย จากเพจ ดูดวงกับหมอโย ได้ชี้แจงถึงความแตกต่างด้านเวลาไว้ดังนี้
–ในสมัยก่อนการดูเวลาในประเทศไทย หรือ สยาม ประชาชนจะรู้เวลาเพียงคร่าวๆ เช่นเวลา ทุ่ม โมง อาจดูจากพระอาทิตย์บ้าง พระจันทร์บ้าง ตามความรู้ด้านการหาเวลาพื้นฐานที่มี ส่วนการดูเวลาโดยละเอียดนั้น ก็มีเพียงนักโหราศาสตร์ และชนชั้นสูงจำนวนไม่มากนัก ที่พอจะคำนวณเวลาได้จากการวัดองศาของดาวต่างๆ
–จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชดำริ ริเริ่มการคำนวณเวลาในประเทศไทย ให้ทัดเทียมกับต่างชาติ จึงสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนย เป็นหอนาฬิกาบอกเวลา โดยสร้างเป็นตึกทรงยุโรปสูง 5 ชั้น ชั้นยอดเป็นนาฬิกาใหญ่ 4 ด้าน สำหรับบอกเวลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2394 โดยใช้หลักการคำนวณเวลาในมุมทางดาราศาสตร์ หรือระบบเวลาดาราคติ (Sidereal time system) และหลักการสังเกตช่วงเวลาปรากฏ (Apparent time)
–หอบอกเวลานี้ใช้เป็นที่สังเกตุการณ์การปรากฏของแสงเงิน แสงทอง ริมขอบฟ้าของพระอาทิตย์ และ สังเกตการณ์พระจันทร์ เพื่อปรับเวลาท้องถิ่นให้มีความถูกต้องแม่นยำ จึงมีพนักงานนาฬิกาหลวง 2 ตำแหน่งคือ “พันทิวาทิตย์” คอยเทียบเวลากับพระอาทิตย์ และ “พันพินิตจันทรา” เทียบเวลากลางคืนจากพระจันทร์และดวงดาวอื่นๆ
–จากการริเริ่มดังกล่าวจึงเกิดเป็นเวลามาตรฐานประเทศไทยที่ชื่อว่า เวลามาตรฐานกรุงเทพปานกลาง (Bangkok mean time: BMT) ซึ่งไม่อ้างอิงกับมาตรฐานเวลาสากล ส่งผลให้การคำนวณปฏิทินโหราศาสตร์ 100 ปี ทั้งหมดในประเทศไทย ใช้หลักการคำนวณโดยอ้างอิงคาบเวลา จากมาตรฐาน BMT นับจากนั้นเป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (แม้ภายหลังจะมีการเปลี่ยนระบบเวลาแล้วก็ตาม) ซึ่งผลการคำนวณ ดาวมฤตยูย้ายราศี ที่ได้เวลา 21.44 น. ก็คำนวณจากระบบเวลานี้ (หากเทียบ BMT กับระบบเวลาสากลจะเป็น GMT UTC + 6.42 หรือก่อนเวลาเมืองกรินิช 6 ชั่วโมง 42 นาที)
–จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริปรับเวลาประเทศไทย โดยอิงกับมาตรฐานสากลโลก (Greenwich Mean Time :GMT) โดยใช้เส้นแบ่งเมืองกรินิช ประเทศอังกฤษ เป็นเส้นแบ่งเวลาโลก โดยปรับโซนเวลาประเทศไทยเป็น UTC + 7.00 หรือ 7 ชั่วโมงก่อนเวลาเมืองกรินิช ซึ่งเป็นมาตรฐานเวลาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ และหากคำนวณการย้ายของดาวมฤตยู ด้วยโซนเวลานี้ จะย้ายในช่วงเวลา 22.02 นั่นเอง
–สำหรับการเปลี่ยนเวลาของดาวมฤตยู ที่หลายสำนักใช้เวลา 21.44 น. นั้นจึงเป็นการคำนวณตามมาตรฐานเวลา UTC + 6.42 ซึ่งถามว่าผิดไหมก็ไม่ผิดครับ เพราะเราใช้การคำนวณนี้มาแต่ไหนแต่ไร เวลานักโหราศาสตร์บอกเวลาดาวย้ายก็อาศัยการเปิดปฏิทิน 100 ปี ในการบอกช่วงเวลาดาวย้ายราศีที่อ้างอิงเวลา BMT แต่ปัจจุบันเวลาในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และเวลามาตรฐานของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ทั้งหมดได้ปรับมาใช้ GMT UTC + 7.00 ทั้งหมดแล้ว
–ดังนั้นช่วงเวลาการย้ายของดาวมฤตยูตามเวลาจริง ที่ระบุอยู่ในมือถือของเราทุกคนจึงอยู่ที่ 22.02 น. ไม่ใช่ 21.44 น. เพราะเราปัจจุบันไม่ได้ใช้ระบบเวลา BMT ซึ่งหมอโย ก็อ้างอิงตามการคำนวณของโปรแกรมสุริยยาสตร์ ซึ่งใช้ระบบเวลามาตรฐานสากลนั่นเอง
–คำถามต่อมาก็คือ ผู้ที่ไหว้ดาวมฤตยูในช่วง 21.44 น. จะมีปัญหาอะไรไหม ขอตอบว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใดครับ เพราะอย่างไรก็อยู่ในคาบเวลาที่ไม่แตกต่างกันมาก จะไหว้ก่อนหรือหลัง ก็ไม่ใช่ปัญหา ขอให้ตั้งจิตอธิษฐาน 7 ปีจากนี้ต่อไปขอให้ข้าพเจ้า พบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเท่านั้น สาธุ… ดูน้อยลง