ลอรีอัล ฉลองครบรอบ 15 ปี
ลอรีอัล ฉลองครบรอบ 15 ปี โครงการทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”
มอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ 2 นักวิจัยสตรีดีเด่น พร้อมเผย 3 นักวิจัยผู้รับทุนประจำปี 2560
ลอรีอัล ฉลองครบรอบ 15 ปี โครงการทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ 2 นักวิจัยสตรีดีเด่น พร้อมเผย 3 นักวิจัยผู้รับทุนประจำปี 2560 นำโดย (ที่สามจากซ้าย) คุณอรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด แสดงความยินดีให้แก่ 2 นักวิจัยสตรีดีเด่น และ 3 นักวิจัยสตรีไทยผู้ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2560 พร้อมดัวย ซึ่งปีนี้มีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L’Oreal Woman Scientist Crystal Award” ให้แก่ 2 นักวิจัยสตรีดีเด่น คือ (ที่สองจากซ้าย) ศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี และ (ซ้ายสุด) ดร. อัญชลี มโนนุกุล ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนวิจัยในปีนี้ทั้งหมด 3 ท่าน จาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (ขวาสุด) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาริสา พลพวก จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวัสดุศาสตร์ (ที่สองจากขวา) รองศาสตราจารย์ ดร. นพิดา หิญชีระนันทน์ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สาขาวิทยาศาสตร์เคมี (ที่สามจากขวา) ดร. ผุศนา หิรัญสิทธิ์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ
กรุงเทพฯ 21 กันยายน 2560 – บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ฉลองครบรอบการดำเนินโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ในประเทศไทยเป็นปีที่ 15 ด้วยการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L’Oréal Woman Scientist Crystal Award” แก่นักวิจัยสตรีดีเด่น 2 ท่าน ผู้เคยได้รับทุนวิจัยจากโครงการฯ และประกาศรายชื่อ 3 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการฯ ประจำปี 2560 ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์
นางนาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ได้เดินทางมาถึงปีที่ 15 ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ที่มีความเชื่อมั่นว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมากว่า 100 ปี การให้การสนับสนุนด้านนี้จึงเป็นสิ่งที่องค์กรสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในปีนี้นักวิจัยสตรีผู้ได้รับทุนต่างก็มีผลงานที่โดดเด่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละสาขาวิชา หากแต่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเดียวกันที่จะสร้างความสมดุล ความสวยงาม และความยั่งยืนให้แก่ประเทศชาติ ยิ่งไปกว่านั้นต้องขอแสดงความยินดีกับนักวิจัยสตรีผู้เคยได้รับทุนของโครงการฯ ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L’Oréal Woman Scientist Crystal Award” โดยได้ต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน ลอรีอัล หวังว่ารางวัลเหล่านี้จะเป็นกำลังใจและแรงสนับสนุนให้นักวิจัยสตรีทุกท่านมุ่งทำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป”
โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล โดยความร่วมมือขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้มากกว่า 2,500 ท่าน จาก 112 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี โดยตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 61 ท่าน
นอกเหนือจากการคัดเลือกที่คำนึงถึงความยั่งยืนต่อสังคมและประเทศชาติซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่โครงการให้ความสำคัญมาตลอด 15 ปีที่ดำเนินงานในประเทศ คุณค่าของงานวิจัยที่จะสร้างประโยชน์กับสังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมไปถึงจริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และต้องเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย คือหลักเกณฑ์หลักในการพิจารณาโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยจากสาขาต่างๆ เป็นคณะกรรมการตัดสิน
รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L’Oréal Woman Scientist Crystal Award”
ในโอกาสที่โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) เดินหน้าอย่างต่อเนื่องมาจนครบรอบ 15 ปี บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดทำรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ “L’Oréal Woman Scientist Crystal Award” เพื่อมอบให้กับนักวิจัยสตรีดีเด่น 2 ท่าน ที่เคยได้รับทุนวิจัยจากทางโครงการได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น ผู้ได้รับทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ในปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มจัดโครงการในประเทศไทย กับงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษาเอนไซม์ออกซิเจนเนสเพื่อการย่อยสลายอะโรมาติก” มุ่งสร้างประโยชน์ทางด้านกระบวนการสังเคราะห์เพิ่มมูลค่าสารเคมีแบบเป็นเทคโนโลยีสะอาด ไม่ใช้สารเคมีอันตรายและไม่ปลดปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม เปลี่ยนของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรให้เป็นสารเคมีและพลังงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมใช้เป็นเทคโนโลยีการผลิตที่ลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดสภาวะโลกร้อน และนักวิจัยอีกหนึ่งท่านที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในครั้งนี้คือ ดร. อัญชลี มโนนุกุล ผู้เคยได้รับทุนวิจัยในปี 2551 กับงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนากระบวนการและผลิตภัณฑ์ด้วยการขึ้นรูปโลหะผง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนโลหะของไทย” โดยงานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการผลิตของประเทศไทย ตัวอย่างผลงานที่ดำเนินการสำเร็จและตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม คือ ชุดโครงการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไททาเนียม ที่ปัจจุบันบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในประเทศไทยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสามารถผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ เป็นต้น
โดยหลังจากได้รับทุนวิจัยจากโครงการฯ นักวิจัยสตรีทั้ง 2 ท่าน ต่างก็ได้รับโอกาสในการเข้ามาช่วยเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติผ่านงานวิจัยในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดย ดร. อัญชลี มโนนุกุล ห้องปฏิบัติการโลหะวิทยาขั้นสูง หน่วยวิจัยโลหะ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งนี้ว่า “การได้รับทุนวิจัยสร้างโอกาสในการทำงานวิจัยเพิ่มขึ้นหลายด้าน ได้รับการไว้วางใจจากภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ ผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก รวมถึงตอบโจทย์อุตสาหกรรม ทั้งยังมีภาคเอกชนติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอคำแนะนำ สนับสนุนงานวิจัย หรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และได้เผยแพร่องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะผงแก่ภาคอุตสาหกรรมไทย เสริมสร้างความเป็นเลิศในการผลิตชิ้นส่วนโลหะของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ” ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี กล่าวถึงความสำเร็จหลังจากได้รับทุนวิจัยว่า “การได้รับทุนวิจัยจากลอรีอัลเปรียบเสมือนกำลังใจสำคัญในการทำงานวิจัยต่อไปและต่อยอดการวิจัยออกไปในเชิงลึกและในวงกว้างได้มากขึ้น ทั้งยังได้นำองค์ความรู้มาพัฒนาให้ใช้งานได้จริงกับทั้งทางภาครัฐและเอกชน เพื่อพร้อมรับมือกับยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกๆ ด้าน ซึ่งองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นก็จะเป็นหนึ่งในแรงสำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อสร้างประโยชน์ในยุคดิจิทัลให้แก่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดี”
3 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนโครงการฯ ประจำปี 2560
ในปีนี้ มีนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุน 3 ท่านจาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาริสา พลพวก จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การศึกษากระบวนการออโตฟาจีซึ่งเป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ เพื่อค้นหาเป้าหมายของยาตัวใหม่ที่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียและวัณโรค” สาขาวัสดุศาสตร์ คือ รองศาสตราจารย์ ดร. นพิดา หิญชีระนันทน์ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การประยุกต์ใช้ยางธรรมชาติเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและพลังงานทางเลือกอย่างครบวงจร” และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี คือ ดร. ผุศนา หิรัญสิทธิ์ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การประยุกต์ใช้การคำนวณด้วยระเบียบวิธี Solid-State DFT สำหรับออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้สามารถใช้เพื่อการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาริสา พลพวก ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวว่า “การศึกษากระบวนการออโตฟาจีซึ่งเป็นกลไกทางภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ เพื่อค้นหาเป้าหมายของยาตัวใหม่ที่สามารถใช้ในการฆ่าเชื้อมาลาเรียและวัณโรคนั้น เป็นอีกหนึ่งการศึกษาที่คนไทยควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเชื้อมาลาเรียและเชื้อวัณโรคต่างเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของประชากรโลกและประชากรในประเทศไทยมาโดยตลอด นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันตัวเชื้อยังมีการพัฒนากลายพันธุ์เป็นเชื้อที่ดื้อยา อาจส่งผลให้การรักษาด้วยยาที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป และมีแนวโน้มที่จะทำให้ติดเชื้อรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ดังนั้น โดยเบื้องต้นในงานวิจัยโมเลกุลกระตุ้นออโตฟาจีที่จะพัฒนามาจากสารสกัดผลิตภัณฑ์ของไทยนั้น อาจทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ หรือ ยาตัวใหม่เพื่อช่วยในการต้านเชื้อ และยังสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นยาต้านโรคอัลไซเมอร์และพาร์กินสันได้ในอนาคต ในขณะเดียวกันอีกหนึ่งงานวิจัยทางด้านเชื้อวัณโรค อาจพัฒนาต่อยอดการยับยั้งและช่วยฆ่าเชื้อโรคมัยโคแบคทีเรียสายพันธุ์ไบจิง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเชื้อที่ระบาดมากที่สุดและดื้อยามากที่สุดในประเทศไทยได้”
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. นพิดา หิญชีระนันทน์ ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์ จากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า “การประยุกต์ใช้ยางธรรมชาติเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มและพลังงานทางเลือกอย่างครบวงจรมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมยางพาราซึ่งเป็นหนึ่งในพืชเกษตรกรรมหลักของประเทศไทย โดยงานวิจัยนี้สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยการนำยางธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างทางเคมีไปประยุกต์ใช้ และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้ในอนาคต นับเป็นการนำยางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันขยะยางจากภาคการขนส่งหรืออุตสาหกรรมยางก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุดผ่านการแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ซึ่งน้ำมันจากขยะยางนั้นหากมีการวิจัยและพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถพัฒนาเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกเพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศชาติได้ต่อไป”
อีกด้านหนึ่ง ดร. ผุศนา หิรัญสิทธิ์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์เคมี จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ก็ได้กล่าวถึงรายละเอียดงานวิจัยว่า “การประยุกต์ใช้การคำนวณด้วยระเบียบวิธี Solid-State DFT สำหรับออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้สามารถใช้เพื่อพัฒนาด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนั้น เป็นอีกวิธีการสำคัญที่สามารถช่วยให้ออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาระดับนาโนและวัสดุโครงสร้างนาโนให้มีสมบัติตามความต้องการเพื่อใช้ในการพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานั้นเป็นหัวใจของกระบวนการปฏิกิริยาต่างๆ โดยวิธีนี้สามารถช่วยให้เข้าใจปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับอะตอม ทำให้ทราบถึงปัจจัยหลักที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการเร่งปฏิกิริยา ช่วยลดการพึ่งพาเครื่องมือการทดลองที่มีราคาสูงรวมไปถึงขั้นตอนในการทดลองที่ซับซ้อนออกไป พร้อมกับสร้างแนวทางสำหรับพัฒนาวิจัยได้ถูกต้องชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งในระยะยาวการวิจัยนี้สามารถพัฒนาเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้เป็นเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์เคมีที่มีมูลค่าสูงขึ้น ลดปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกและภาวะโลกร้อน ทั้งยังช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นอีกด้วย และงานวิจัยนี้ยังเกี่ยวเนื่องต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานทดแทนให้มีความยั่งยืน และสนับสนุนความมั่นคงทางด้านพลังงานทดแทนด้วยเช่นกัน”