Readspread.com

News and Article

โครงการ 5by20 เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่

เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพราะเป็นทั้งผู้ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่ไทยส่งออกมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และผู้ควบคุมค่าใช้จ่าย ดูแลครอบครัว แต่ปัจจุบันพวกเขายังมีปัญหาในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ ซึ่งจากการประเมินความต้องการของเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยกลุ่มหนึ่งในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี พบว่าพวกเขาต้องการความรู้และทักษะการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน และการแบกรับความเสียหายจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี

จากความต้องการดังกล่าว “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย” อันเกิดจากความมุ่งมั่นของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และสถาบันคีนันแห่งเอเซียที่ต่างมองเห็น “คุณค่าร่วม” จากโครงการฯ จึงนำร่องเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในพื้นที่ดังกล่าว ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ที่ออกแบบจากความต้องการของพวกเขา เหมาะกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งเพื่อขยายผลการดำเนินโครงการระดับโลก 5by20 ของโคคา-โคลา ที่มุ่งเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงที่ทำงานร่วมกันในการผลิตเครื่องดื่มที่ได้มาตรฐานระดับโลก 5 ล้านคน ภายในปี 2020 (พ.ศ. 2563)

หลังเริ่มดำเนินโครงการนำร่องในเดือนสิงหาคม 2559 ปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วม 625 คน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 600 คน และสิ่งสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่เริ่มขึ้น โดย จี๊ด – รจนา บุญเพชร แหม่ม – ณัฐวรรณ ทองเกล็ด และ เนะ – รจนา สอนชา คือสามเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่จากอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ที่มุ่งมั่นปฏิวัติวิถีการทำเกษตรกรรมแบบเดิมๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิต และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรคนอื่นๆ เห็นว่าชีวิตดีขึ้นได้ไม่ยาก เพียงแค่มีความตั้งใจและลงมือทำ

จี๊ด – นางสาวรจนา บุญเพชร เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยที่ยึดมั่นในคติ “หาทางเลือก เพื่อทางรอด” เล่าว่า “จากเมื่อก่อนขายอ้อยได้เท่าไร ก็นำมาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่มีการวางแผน ปัจจุบัน หันมาจดบันทึกค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน ทำให้รู้ว่าค่าใช้จ่ายส่วนไหนไม่จำเป็น ใช้เงินเป็นระบบ จัดสรรเงินทุน และออมเงินได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแค่ขายอ้อยและใช้เงินที่ได้มาไปวันๆ” นอกจากนี้ จี๊ดยังนำเทคนิคการทำเกษตรที่ได้อบรมจากโครงการฯ แบ่งปันจากเพื่อนๆ รวมไปถึงการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมบนสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น การปรับหน้าดิน และเทคนิคการใช้น้ำหยดกับแปลงเกษตร ทำให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพและราคาดียิ่งขึ้น แก้ปัญหาในอดีตที่ต้องเหนื่อยและลงแรงไปเยอะ แต่ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่า สิ่งเหล่านี้คือทางเลือกที่ช่วยให้จี๊ดมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน

แหม่ม – นางสาวณัฐวรรณ ทองเกล็ด อดีตสาวแบงค์ที่ตัดสินใจกลับไปทำกิจการไร่อ้อยของครอบครัว เข้าใจถึงการแบกรับต้นทุนการทำเกษตรที่สูงเกินความจำเป็นจากการจ้างแรงงานคนและความเสียหายจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เผยว่า “หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ และเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการจดบันทึกรายรับรายจ่าย ทำให้มองเห็นภาพรวมการบริหารจัดการด้านการเงินและการเกษตรมากขึ้น จนเข้าใจแล้วว่าการลงทุนทำเกษตรของตัวเองนั้นหมดไปกับค่าแรงงานคนมากเกินไป หากปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรจะสามารถแบ่งเบาและช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ในระยะยาว” นอกจากนั้นแหม่มยังตระหนักได้ว่า ปัญหาทุกอย่างเกิดจากความไม่รู้จักพอ สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่หากสามารถปรับลดความต้องการให้พอดี ชีวิตก็จะลงตัวและสมดุล

เนะ – นางสาวรจนา สอนชา เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยผู้มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรด้วยกัน กล่าวว่า “พี่อยากพิสูจน์ให้เกษตรกรคนอื่นเห็นว่า ถ้าพี่สามารถบริหารจัดการการเงินและทำการเกษตรยั่งยืนได้สำเร็จ ทุกคนก็ย่อมทำได้ หากเราไม่ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลง ความยั่งยืนที่เราต่างต้องการก็จะไม่เกิดขึ้น” จากการเริ่มต้นจดบันทึกการเงิน รวมไปถึงการนำความรู้ด้านการเกษตรยั่งยืน ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ มาใช้ ทำให้เนะสามารถพัฒนาธนาคารปุ๋ย บริหารจัดการเงิน และทำเกษตรผสมผสาน เช่น มะเขือเทศราชินี ข้าวโพดเทียน เพื่อรายได้เสริมอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น เนะ หรือ หมอดิน ที่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันเรียกเพราะเชี่ยวชาญในเรื่องดิน ยังถ่ายทอดความรู้ที่มี และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรด้วยกันในการบริหารจัดการชีวิต

แม้จะมีองค์ความรู้หรือความช่วยเหลือจากโครงการฯ แต่หากเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยรุ่นใหม่เหล่านี้ ไม่มีความเชื่อและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น ปัญหาต่างๆย่อมไม่ถูกแก้ไข แม้การเปลี่ยนแปลงอาจไม่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น หากเพียงมีความคิดที่จะเริ่ม และลงมือทำ ย่อมนำไปสู่ผลลัพธ์ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกับจี๊ด แหม่ม และ เนะ ที่กำลังเดินหน้าสู่เส้นทางชีวิตของเกษตรกรที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.