Autoparts Tech Day 2017
กระทรวงวิทย์ สวทช. จับมือพันธมิตรแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม ในงาน Autoparts Tech Day 2017
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานแสดงนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ Autoparts Tech Day 2017 ภายใต้แนวคิด “ชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมอนาคต: อากาศยาน ยานยนต์ไฟฟ้า และระบบอัจฉริยะ” ระหว่างวันที่ 9-10 สิงหาคม 2560 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอแนวโน้มการพัฒนาของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยต่อผู้ประกอบการ พร้อมแนะนำบริการต่างๆ ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ให้กับพันธมิตรกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเชื่อมโยงการบริการด้านชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน พร้อมจับมือพันธมิตรร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน
รศ. นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเปิดงานว่า การจัดงาน Autoparts Tech Day 2017 ถือเป็นการรวมตัวของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้สนใจในเทคโนโลยียานยนต์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนอากาศยาน ผู้ประกอบการทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรม ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ตลอดจนการขับเคลื่อนประเทศก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Innovation Driven Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนและจะมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมของประเทศให้ทันสมัยต่อแนวโน้มเทคโนโลยี ภาคอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงได้ง่าย และตรงต่อความต้องการอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีกลไกลสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ (1) การให้บริการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MSTQ) เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2) การส่งเสริมให้มีบุคลากรด้านการวิจัยจากภาครัฐและภาคการศึกษาไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน (Talent Mobility) (3) โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) (4) การร่วมวิจัยและพัฒนาหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีจากหน่วยงานวิจัย ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (5) การผลักดันให้มีการลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศให้ได้ไม่น้อยกว่า 2% ของ GDP ภายใน 20 ปีข้างหน้า ผ่านกลไกการสร้างแรงจูงใจ เช่น แรงจูงใจทางภาษีงานวิจัย 300% หรือบัญชีนวัตกรรม (6) การพัฒนาบุคลากรทางด้านการวิจัยและพัฒนาให้ได้ถึง 20 คนต่อประชากร 10,000 คน (7) การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ และเขตนวัตกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ซึ่งจะมุ่งเน้นการตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ อากาศยาน และระบบอัจฉริยะด้วย ตลอดจนการพัฒนากลไกทางกฎหมายให้สามารถทดสอบทดลองนวัตกรรมใหม่โดยการผ่อนปรนหรือยกเว้นข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค (Regulatory Sandbox) ในพื้นที่เขตนวัตกรรม (8) การสร้างแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชนผ่านพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เช่น อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นต้น
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรกว่า 10 หน่วยงาน จัดงานสัมมนาและนิทรรศการเพื่อแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในงาน Autoparts Tech Day 2017 เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับ ทิศทางการพัฒนาประเทศ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ เข้าใจโอกาสทางธุรกิจ เข้าถึงเครือข่ายอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการวิจัยและพัฒนา โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้พบปะแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ และแนวโน้มของการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน รวมไปถึงดาวเทียมขนาดเล็ก การพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่ออุตสาหกรรม
ดร.ณรงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สวทช. ยังมีบริการและโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ภายในพื้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เช่น การสนับสนุนงานมาตรฐาน การวิจัยเชิงนโยบาย มาตรการสนับสนุนการเพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยี สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อาทิ การออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อขึ้นรูปวัสดุประเภทต่างๆ การวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และต้นแบบระบบและชิ้นส่วนในยานยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรีแพค ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี การรีไซเคิลแบตเตอรี มอเตอร์ กระบวนการผลิตแบบดิจิทัล การวิเคราะห์ทดสอบต่างๆ และยังได้สนับสนุนสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในการจัดทำมาตรฐานต่างๆ อาทิ มอก. 2749 สำหรับเต้ารับและเต้าเสียบที่ได้นำมาแสดงภายในงานนิทรรศการด้วย ส่วนกิจกรรมภายในงาน Autoparts Tech Day 2017 ประกอบด้วยการบรรยายพิเศษจาก ดร. พราดิพ ซาฮา (Dr.Pradip Saha) วิศวกรอาวุโสจากโบอิ้ง กูรูด้านอากาศยานระดับโลก และเป็นผู้แต่งหนังสือ Aerospace Manufacturing Processes ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอากาศยานที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งมาบรรยายครั้งแรกในประเทศไทย และบรรยายพิเศษของคุณแอนเดรส เลทเนอร์ (Mr.Andreas Lettner) ซีอีโอ เมอร์เซเดส เบนซ์ ประจำประเทศไทย กับการเปิดมุมมองความต่างการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรมชั้นยอดของเบนซ์ที่ทุกคนจับตามอง ตลอดจนการสัมมนาที่เจาะลึกด้านอุตสาหกรรมอากาศยาน ยานยนต์ไฟฟ้าและระบบอัจฉริยะ และการแสดงผลงานและนวัตกรรมจากภาคเอกชน ภาครัฐและภาคการศึกษากว่า 23 บูธ อาทิ รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดจากเมอร์เซเดส เบนซ์ อากาศยานไร้คนขับ หุ่นยนต์วิเคราะห์ทดสอบ และสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น