Readspread.com

News and Article

อพท. ตอกย้ำ “วิถีชีวิตกินได้” อย่างยั่งยืน

อพท. ตอกย้ำ “วิถีชีวิตกินได้” อย่างยั่งยืน
ใช้ท่องเที่ยวเสริมรายได้คนเมืองน่านเฉียดครัวเรือนละ 40,000 บาท

อพท. เผยผลสำเร็จพัฒนาเมืองเก่าน่าน 5 ปี 73 โครงการ ฟื้นวิถีชีวิต วัฒนธรรม สร้างกิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยว ผลักดันชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเฉียด 40,000 บาทต่อครัวเรือน เกิดการจ้างงานในท้องถิ่นร้อยละ 93 ล่าสุดเตรียมใช้โมเดล CBT Thailand ขยายผลในพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา 
พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ “พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน” ระยะ 5 ปี  (พ.ศ. 2557-2561)  อพท. บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเมืองเก่าน่านให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินโครงการรวม 73 โครงการ ในรูปแบบการทำงานผ่านภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชน ชุมชน  ใน 6 ด้าน ประกอบด้วย  พัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว พัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว พัฒนาการมีส่วนร่วมทางการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่น พัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว พัฒนาตลาดท่องเที่ยว และพัฒนาจิตสำนึกทางการท่องเที่ยว โดยใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand เป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนา
ผลจากการดำเนินงาน ได้ผลลัพธ์ใน 3 มิติ ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม  เกิดการพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว เพิ่มแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออกที่มีมาตรฐาน เช่น วัด อาคารบ้านเรือน พัฒนาทรัพยากรบุคคลในรูปแบบนักสื่อความหมาย พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้สวยงามสะอาด เป็นระเบียบ เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น หนองน้ำครก ส่งเสริมผู้ประกอบการจัดระเบียบที่พักให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) 
ด้านเศรษฐกิจ ผลจากการพัฒนาช่วยเพิ่มขีดความสามารถเกิดแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ต่อยอดจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น  เช่น กิจกรรมทำตุงก้าคิงบ้านพระเกิด กิจกรรมปักผ้าหน้าหมอนโฮงเจ้าฟองคำ  กิจกรรมทำโคมมะเต้าบ้านม่วงตึ๊ด กิจกรรมสานตาแหล๋วบ้านตาม และกิจกรรมการทอผ้าตาโก้งบ้านนาซาว จัดตั้งกลุ่มและจัดทำแผนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ได้แก่ กลุ่มสามล้อถีบเพื่อการท่องเที่ยวเมืองน่าน กลุ่มผลิตภัณฑ์คุ้มเจ้าบ้านไผ่เหลือง กลุ่มจักสานบ้านต้าม กลุ่มที่พักแบบสัมผัสวัฒนธรม (Home Stay) เป็นต้น นอกจากนั้นเพื่อเป็นการตอกย้ำการรับรู้ผลิตภัณฑ์และกิจกรรมในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อพท. ได้ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องท่องเที่ยวผ่านคีย์เวิร์ด   “น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต” (Brand Image) ภายใต้แนวคิด “วิถีชีวิต กินได้”  นำเสนอกิจกรรมการท่องเที่ยวทางประเพณี วัฒนธรรม ที่มีอัตลักษณ์เป็นจุดแข็งในการทำการตลาด ในส่วนของสินค้าและผลิตภัณฑ์ อพท. ได้พัฒนาตราสัญลักษณ์ (Brand) “น่าน เน้อเจ้า” พร้อมร่วมดำเนินงานกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น งานเทศกาลศิลปะน่าน การจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวโดยจักรยาน เป็นต้น
ด้านสังคม อพท. ได้พัฒนาการมีส่วนร่วมชุมชนท้องถิ่นในเรื่องการจัดการการท่องเที่ยวตามนโยบาย Co – Creation  คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์  เปิดโอกาสชุมชนให้ได้นำเสนอแนวความคิดและร่วมจัดกิจกรรมสืบสานศิลปวัฒนธรรม เช่น งานของดีบ่อสวก งานวันเมืองเก่าน่าน งานวันอนุรักษ์มรดกไทย  การพัฒนาสร้างจิตสำนึกด้านการท่องเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น
“การดำเนินงานของ อพท. ทั้งหมดเป็นไปตามนโยบายประชารัฐในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยชุมชนได้จัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นในตำบลบ่อสวก ตำบลดู่ใต้ ตำบลในเวียง ตำบลม่วงตึ๊ด ตำบลนาซาว โดยชมรมทั้งหมดมีรูปแบบการบริหารจัดการโดยคนในชุมชน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม”
ผลจากการพัฒนาชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเมืองเก่าน่าน สามารถสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 ชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อครัวเรือน 38,500 บาท และปี 2561 ช่วง 6 เดือนแรก (ต.ค. 60 –มี.ค. 61) ชุมชนมีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวต่อครัวเรือนเฉลี่ยรวม 29,840 บาท เติบโตจากปี 2560 ในช่วงเดียวกันร้อยละ 42  ในส่วนภาคธุรกิจ ปี 2560 การจ้างแรงงานทุก 100 คน จะเป็นแรงงานจากท้องถิ่นสูงถึง 93 คน
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวทิ้งท้ายว่า นับจากนี้ไป อพท. จะใช้กลไกการทำงาน CBT Thailand เป็นเครื่องมือการพัฒนา “การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน” ให้กับชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ในรูปแบบการทำงานผ่านภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ในพื้นที่นั้นๆ และมีตัวแทนจากชมรมเครือข่ายส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษ (ชคพ.) ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้นำชุมชนจากชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ อพท. พัฒนาขึ้นมา เข้าร่วมในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชุมชนต่างๆ อีกด้วย

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.