Readspread.com

News and Article

บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม

ก.วิทย์ฯ-สวทช. เปิดตัวหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม”
เผยเส้นทางสู่ “นักวิจัย-นักวิทย์ฯ” ชั้นแนวหน้าของประเทศ

ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคาร 18 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย : ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP (Junior Science Talent Project) แถลงข่าวเปิดตัวหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” พร้อมเวทีเสวนา “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” โดยมี ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวต้อนรับ

ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP กล่าวว่า โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ JSTP (Junior Science Talent Project) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีเป้าหมายในการสร้างหัวรถจักรให้กับประเทศ โดยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ ฝึกทักษะวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ยังเยาว์วัย เพื่อก้าวสู่การเป็นนักวิจัย/นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำต่อไปในอนาคต ซึ่งตลอดระยะเวลามากกว่า  20 ปี โครงการ JSTP ได้มุ่งมั่นสนับสนุนเยาวชนในโครงการจนสามารถสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและทำประโยชน์ให้กับประเทศในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจำนวนมาก 

ในโอกาสนี้ สวทช. จึงได้จัดทำหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” เพื่อนำเสนอตัวอย่างเยาวชนที่ประสบความสำเร็จในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นต่อๆ ไป ให้มีใจใฝ่รักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยยกตัวอย่างเยาวชนไทย ที่หลงใหลในวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็กจำนวน 13 คน ผ่านการบ่มเพาะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากโครงการ JSTP กว่า 10 ปี รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เยาวชนเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ผู้ที่ชอบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เดินทางตามความฝันจนจบการศึกษาและกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป โดยหนังสือ “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” ได้จัดพิมพ์ 2,000 เล่ม และจำหน่ายโดย สวทช. ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ ศูนย์หนังสือ สวทช. สอบถามโทร 02 564 7000

สำหรับเวทีเสวนา “บ่มเพาะนักวิทย์ คิดเพื่อสังคม” มีตัวแทนเยาวชน ผู้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาร่วมแชร์ประสบการณ์ท่ามกลางผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งผู้ปกครองและเยาวชนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์จำนวนมาก ร่วมรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ ของรุ่นพี่ในโครงการ JSTP อาทิ

ผศ.ดร.นัทธี สุรีย์ ศิษย์เก่าโครงการ JSTP รุ่น 1 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า ทำงานวิจัยพัฒนายาต้านแบคทีเรียตั้งแต่ปริญญาเอก และมีความสนใจส่วนตัวเรื่องไวรัสเอชไอวี เนื่องจากเป็นโรคที่มีความสัลบซับซ้อนที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้โครงการ JSTP ทำให้ได้สัมผัสชีวิตนักวิจัยจริงๆ นักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงแต่ละท่านมีชื่อเสียงทั้ง ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ซึ่งปกติแล้วน้อยคนจะได้พบนักวิจัยเหล่านี้ นอกจากนี้โครงการ JSTP ยังเน้นใช้ชีวิตกับนักวิจัยในห้องปฏิบัติการจริง พี่เลี้ยงโครงการมีความทุ่มเท ทำให้การทำงานและการใช้ชีวิตในวิชาชีพปัจจุบันเกิดทัศนคติที่ดีและอยากส่งเสริมช่วยเหลือรุ่นน้องๆ ต่อไปเพื่อดำรงไว้ซึ่งเจตนารมณ์นี้ 

ดร. ปีย์ชนิตว์ เกษสุวรรณ  ศิษย์เก่าโครงการ JSTP รุ่น 2 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ JSTP จากความสนใจส่วนตัวที่ชื่นชอบสัตว์ สิ่งมีชีวิต เมื่อหลายปีที่แล้ว เมื่อเข้ามาในโครงการ JSTP จนกระทั่งได้ศึกษาเรื่องนกเปล้า เป็นนกเขาป่าตัวสีเขียว จากโครงการศึกษานิเวศวิทยาของสิ่งมีชีวิตในเขตอำเภอปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และการศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจากโครงการดังกล่าว ทำให้ ดร.ปีย์ชนิตว์ พบว่าชาวบ้านล่านกจำนวนหนึ่งเพื่อเป็นอาหาร แต่ ดร.ปีย์ชนิตว์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ได้ใช้การศึกษาข้อมูลและการสังเกตพฤติกรรมนกตลอดหลายวัน และได้ขอกระเพาะนกจากชาวบ้านเพื่อมาศึกษาและผ่ากระเพาะนกให้ชาวบ้านได้เห็นว่าในกระเพาะมีเมล็ดพืชอยู่เยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งเมล็ดต้นไทรและพืชอื่นๆ    จึงอธิบายความสำคัญของนก ให้ชาวบ้านที่ล่านกได้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่นกกิน จนกระทั่งได้พูดในที่ประชุมหมู่บ้านและชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่า ทั้งพื้นที่โป่งและนก มีความสำคัญกับระบบนิเวศ โป่งเป็นแหล่งอาหารของนก ขณะเดียวกันนกชนิดต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ป่ากระจายออไป ได้มากกว่าการปลูกป่าของมนุษย์ ซึ่งการสื่อสารครั้งนั้นประสบความสำเร็จ จนที่ประชุมหมู่บ้านมีมติว่าห้ามล่านกในพื้นที่โป่ง ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านมีรายได้จากการให้คนนั่งช้างเข้าไปชมโป่งดูนกได้ นับเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของการสื่อสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพื่องานนิเวศวิทยาเชิงอนุรักษ์ และถือเป็นตัวอย่างของนักวิทย์ที่คิดเพื่อสังคมอย่างแท้จริง 

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.