Chevron Enjoy Science
Chevron Enjoy Science ต่อยอดความสำเร็จสู่ปีที่ 3
เดินหน้ายกระดับสะเต็มศึกษา (STEM) มุ่งพัฒนาทักษะเยาวชนยุค 4.0
การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไปสู่ยุคของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการทำงานของเครื่องจักรกำลังเข้ามาแทนที่แรงงานทักษะต่ำหลายๆ อาชีพ รายงานของธนาคารโลกระบุว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่งานจำนวนมากถึง 72% จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติในอีก 20 ปีข้างหน้า ในทางตรงกันข้าม การเข้ามาของวิทยาการสมัยใหม่ยังหมายถึงโอกาสสำหรับแรงงานทักษะขั้นสูง อาทิ วิศวกร นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และอีกหลายอาชีพที่อาจจะยังไม่มีในวันนี้แต่จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคตข้างหน้า จากการประเมินของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่าตลาดแรงงานไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าต้องการบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือ สะเต็ม (STEM) เพิ่มขึ้นเป็น 1.1 ล้านคน การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยผ่านสะเต็มศึกษา จึงเป็นวาระสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
หนึ่งในการเคลื่อนไหวสำคัญ คือ โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ภายใต้การสนับสนุนหลักของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ตามแนวทาง “รัฐร่วมเอกชน” มีพันธมิตรหลัก 7 องค์กรร่วมดำเนินการ จาก 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้บริหารโครงการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศผ่านการพัฒนาการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาทั้งในระดับสามัญศึกษาและสายอาชีพ ครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ นักเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และบุคลากรทั่วประเทศ โดยดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการในปีที่สาม
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า “เวลานี้โจทย์ที่สำคัญและท้าทายของรัฐบาล คือการก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ในขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีสัดส่วนของประชากรในวัยทำงานลดลง การออกจากกับดักโดยการเพิ่มรายได้ต่อหัวประชาชาติด้วยจำนวนแรงงานลดลงนี้ จำต้องเพิ่มทักษะและคุณภาพของแรงงาน สะเต็มจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สามารถช่วยเพิ่มการสร้างผลผลิตของประเทศได้ เพราะหากเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังคนแห่งอนาคต มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะด้านสะเต็ม ก็จะมีการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ หรือนวัตกรรมต่างๆ อีกทั้งสะเต็มยังช่วยยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับประชากรในวัยทำงาน โดยเฉพาะแรงงานในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้บริษัทเหล่านี้สามารถพัฒนาไปสู่บริษัทที่มีทักษะและความสามารถที่จะผลิตสินค้าคุณภาพสูงได้ และความฝันที่จะนำพาประเทศก้าวพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงก็ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น”
รศ. นพ. โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยผ่านสะเต็มศึกษา มีความสำคัญและต้องทำอย่างทั่วถึง เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน โครงการ Chevron Enjoy Science ดำเนินงานโดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นตลอดจนผู้บริหารสถานศึกษา ในการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะ (inquiry-based learning) และการแก้โจทย์ปัญหา (problem-based learning) จากสถานการณ์จริง ที่เน้นให้นักเรียนค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าการเรียนวิชาเหล่านี้เป็นเรื่องสนุก เกิดความสนใจและแรงบันดาลใจที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มต่อไปในอนาคต นับเป็นการวางรากฐานการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อาทิ ทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และความคิดสร้างสรรค์ ก้าวสู่การเป็นบุคลากรรุ่นใหม่ที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่การมีระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ได้อย่างแข็งแกร่ง”
ดร. สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “แนวทางการดำเนินงานของโครงการ Chevron Enjoy Science ได้ยกระดับการเรียนการสอนสาขาสะเต็มในระดับอาชีวศึกษาขึ้นอีกขั้น ผ่านทางการจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) ที่มีทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และองค์กรธุรกิจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางและวางกรอบการดำเนินงาน ตลอดจนการดำเนินกิจกรรม อาทิ การอบรมพัฒนาทักษะการสอนของครูด้วยแนวทางใหม่ การปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการทำความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติจริง และการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้สามารถผลิต ‘ช่างเทคนิค 4.0’ ที่มีความรู้และทักษะสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตลอดจนตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างตรงจุด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคง”
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ดำเนินภารกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย เชฟรอนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสะเต็ม เพราะเป็นสาขาวิชาที่เป็นรากฐานสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ตามแนวทางรัฐร่วมเอกชน มาอย่างต่อเนื่อง โดย Chevron Enjoy Science เป็นโครงการล่าสุดในความมุ่งมั่นนี้ และตลอดสองปีที่ผ่านมาถือว่าเกิดผลสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ทั้งในส่วนของการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย โดยโครงการฯ สามารถจัดตั้งศูนย์สะเต็ม (STEM Hub) เพื่อเป็นศูนย์กลางการในการบริหารจัดการสื่อการเรียนการสอน การอมรมครู และการพัฒนาหลักสูตรเพื่อยกระดับการเรียนการสอนสะเต็มศึกษาในโรงเรียนได้แล้ว 5 แห่ง และมีโรงเรียนเข้าร่วมแล้ว 371 แห่ง ขณะเดียวกันได้มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) สำหรับพัฒนาบุคลากรในสายอาชีวศึกษา จำนวน 3 แห่ง และมีสถาบันอาชีวศึกษาเข้าร่วม 25 แห่ง มีครูผู้สอนและผู้บริหารสถานศึกษาที่ได้รับการอบรมพัฒนาศักยภาพผ่านศูนย์ดังกล่าวแล้วกว่า 4,000 คน และมีนักเรียนทั้งในสายสามัญและนักศึกษาในสายอาชีวศึกษาได้รับการฝึกทักษะโดยโครงการฯ แล้วประมาณ 170,000 คน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังสามารถสร้างการรับรู้และแรงบันดาลใจในการศึกษาและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มแก่เยาวชนและสาธารณชนทั่วไปแล้วกว่า 200,000 คน”
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักของโครงการฯ กล่าวว่า “ภายใต้ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี โครงการ Chevron Enjoy Science มีเป้าหมายที่จะจัดตั้งศูนย์สะเต็ม 12 แห่ง ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ 6 แห่ง และยกระดับการศึกษาด้านสะเต็มในโรงเรียน 660 แห่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนได้กว่า 10,000 คน และนักเรียนอีกกว่า 425,000 คน และจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ทั้งสิ้นกว่า 500,000 คน นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินโครงการโดยยึดถือหลักการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเป็นพื้นฐานในการดำเนินงาน ผ่าน TVET Hub และ STEM Hub จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็มอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด”