ITAP สวทช. จับมือ Vgreen ม.เกษตรฯ และ TCDCติดความรู้ SMEs
ITAP สวทช. จับมือ Vgreen ม.เกษตรฯ และ TCDC ติดความรู้ SMEs นักออกแบบ และคนรุ่นใหม่
สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม รองรับตลาดสีเขียว
โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสวทช. ร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ โดย นายพิชิต วีรังคบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ TCDC และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Vgreen) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ผศ.รัชด ชมภูนิช รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กร ม.เกษตรศาสตร์ ลงนามความร่วมมือโครงการ “นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนายั่งยืน”เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค (ไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน วัสดุ สิ่งทอ บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ) ให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งออกตลาดต่างประเทศ พร้อมรองรับตลาดสีเขียวด้วยการพัฒนาธุรกิจและการตลาดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 3หน่วยงานมุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการในสังคมคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าหนุนผู้ประกอบการอย่างน้อยปีละ 10ราย ตลอดระยะเวลา 3 ปี (ก.ย. 60 – ก.ย. 63)
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า
“โครงการนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนายั่งยืนเป็นการดำเนินการเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานหลัก 3 แห่ง คือ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวทางการสร้างนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ขณะที่ Vgreen (วีกรีน)ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เชี่ยวชาญด้านการประเมินชีวิตและฉลากสิ่งแวดล้อมการสร้างนวัตกรรมองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมบนแนวคิดการออกแบบโดยตลอดวัฏจักรชีวิต (Life cycle design) และ โปรแกรม ITAP สวทช.
ที่ให้การสนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการ เป็นผู้จัดการโครงการ ติดต่อประสานกับผู้ประกอบการและดูแลโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ โดยโครงการฯมุ่งมั่นที่จะเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการก่อนก้าวสู่ตลาดยุคเศรษฐกิจสีเขียวด้วยการสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์ตลาดปัจจุบัน ความสำคัญของตลาดสินค้าสีเขียวระบบการจัดการในการก้าวสู่ตลาดสีเขียวทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ และความเข้าใจเรื่องฉลากสิ่งแวดล้อม(Eco Labels) โดยใช้หลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แนวทางการสร้างนวัตกรรม และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ(Design Thinking) เพื่อหนีจากกรอบความคิดเดิมๆ ผ่านสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน รวมถึงร่วมกันค้นหาแนวคิดผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระบบจนช่วยให้ผู้ประกอบการได้โจทย์ที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการวิจัยและการออกแบบในเชิงลึกต่อไป เพราะเมื่อเริ่มต้นดีแล้ว ปลายทางหรือผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ย่อมมีโอกาสทางการตลาดที่สูงกว่า
โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมที่จะจับมือนักออกแบบเพื่อช่วยผู้ประกอบการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าสนับสนุน SMEs ในกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค ปีละอย่างน้อยจำนวน10 บริษัท โดยโครงการมีระยะเวลา 3 ปี (กันยายน 2560 – กันยายน 2563)”
“การออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมบนแนวคิดการออกแบบโดยตลอดวัฏจักรชีวิต (Life cycle design) จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยพิจารณากิจกรรมตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การผลิตบรรจุภัณฑ์ การกระจายสินค้า การใช้งานการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน และการขนส่งที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน
ด้วยการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือเชิงบูรณาการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อม สู่นวัตกรรมสังคม ระหว่างผู้ประกอบการ (ผู้ผลิต) นักออกแบบ และนักเทคโนโลยีตลอดจนนักพัฒนาธุรกิจและการตลาด เพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจ สร้างแบรนด์อีโค่และทำการตลาดผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ ภาคการออกแบบและทรัพยากรบุคคลคนรุ่นใหม่ รวมถึงเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายตลาดสีเขียว (Single green market)ของสหภาพยุโรป ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนสู่นโยบายประเทศไทย 4.0ที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับสากลด้วย” ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ กล่าวเสริม