Readspread.com

News and Article

MU Design Thinking Workshop

มหิดล เดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยพัฒนาผู้ประกอบการจัด MU Design Thinking Workshopหวังปั้นผู้ประกอบการ Startup และเริ่มต้นต่อยอดธุรกิจนวัตกรรมรับยุค Thailand 4.0

       ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีมอบรางวัล“MU Design Thinking Workshop” ประกาศ 4 สุดยอดไอเดียหรือผลงานสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ชนะการประกวด จากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 600 คนที่ได้นำเอากระบวนการ Design Thinking มาใช้ในการสร้างสรรค์ไอเดียและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากกว่า 20  ผลงาน ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้เกิดการต่อยอดทางธุรกิจ และสร้างผู้ประกอบการ Startup รองรับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของรัฐบาลตามนโยบายThailand 4.0
        โดยผลงานที่ชนะเลิศได้รับรางวัลอันดับที่ 1 ได้แก่ โครงการ Pharmaget  หรือ Pharmacy Marketplace Platform การนำระบบ Website และ Application Platform มาเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทผู้ผลิตยาและร้านขายยารายย่อยเพื่อรองรับพฤติกรรมเจ้าของร้านขายยากลุ่ม Gen-Y  สำหรับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่โครงการ “เศษผักจัดการได้” แนวคิดในการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอินทรีย์ด้วยการนำมาเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ให้สามารถผลิตกรด Citric  ซึ่งมีความต้องการจากกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย นอกจากจำกัดขยะได้ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับขยะได้มากกว่าระบบการจัดการขยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง ลดการนำเข้ากรดดังกล่าวจากต่างประเทศได้  ส่วนรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 มีจำนวน 2 รางวัลได้แก่ โครงการ Develop from Side Car ซึ่งมีแนวคิดในการออกแบบ Side Car ให้มีขนาดพอเหมาะกับเส้นทางสัญจรขนาดเล็ก สามารถถอดเข้า-ออกได้ เพื่อรองรับการเดินทางผู้สูงอายุหรือการเคลื่อนย้ายผู้พิการ หรือผู้เจ็บป่วยหรือฉุกเฉิน และโครงการ ALCohol Alert เป็นไอเดียการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับวัดปริมาณแอลกอฮอล์และแอพลิเคชั่นเชื่อมต่อเพื่อคำนวณ ประมวล แปรผล และบันทึกสถิติปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายและพฤติกรรมการดื่ม

       ผศ.ดร.สุรพงษ์  เลิศสิทธิชัย ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า “MU Design Thinking Workshop” เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ Entrepreneurship Education ที่ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้ดำเนินการร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (INNOTECH) โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย 4.0 รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของมหาวิทยาลัย ในการก้าวสู่มหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) ในอนาคต

       กิจกรรม MU Design Thinking Workshop มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะในการคิดเชิงสร้างสรรค์ และการคิดเชิงวิเคราะห์ (Creative and Critical Thinking) และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันกิจกรรมนี้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งนักศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก นักวิจัยและบุคลากร รวมถึงบุคคลภายนอกที่สนใจ รวม 600 คน โดยจัดเป็น series 4 รอบ และรอบภาษาอังกฤษอีก 1 รอบ โดยวิทยากรหลักคือ ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking ซึ่งเป็นคนไทยรุ่นแรกๆ ที่จบการศึกษาด้าน Design Thinking จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่า 20 ปี

       นอกจากนี้ ในกิจกรรมยังได้เชิญวิทยากร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ Startup ที่ได้นำเอากระบวนการDesign Thinking ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจและการทำงาน เช่น Startup กลุ่มนักออกแบบ นักไอที นักวิชาการ เป็นต้น ซึ่งแต่ละรอบผู้เข้าอบรมจะได้รับความรู้จากประสบการณ์ของวิทยากรรับเชิญในบริบทที่แตกต่างกัน

       สำหรับเนื้อหาหลักในกิจกรรม มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ค้นหาแนวทางในการสร้างธุรกิจ เริ่มจากปัญหาที่พบ แล้วจึงนำไปสู่การตั้งโจทย์และการหาแนวทางแก้ไข (Solution) โดยผู้จัดได้มี Mentor (ที่ปรึกษา) คอยช่วยแนะนำในการตั้งโจทย์เพื่อหาโจทย์ชัดเจน หรือตั้งโจทย์ให้เป็น โดยแบ่งการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อให้เกิดความหลากหลายในมุมมอง

       จากการอบรมที่ผ่านมา ได้เกิดไอเดียหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มากกว่า 20 ผลงาน ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงได้จัดกิจกรรม Pitching และพิธีมอบรางวัล MU Design Thinking Workshop ทั้งนี้เพื่อคัดสรรโครงการที่มีคุณภาพที่พร้อมพัฒนาต่อยอดเพียง 12 ผลงานและมอบรางวัลให้ผลงานที่สุดยอดเพียง 4 ผลงาน โดยโครงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลอันดับที่ 1 จะได้รับโล่เกียรติยศพร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท  รางวัลชนะเลิศรางวัลอันดับที่ 2 ได้รับโล่เกียรติยศพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลชนะเลิศรางวัลอันดับที่ 3 จำนวน 2 โครงการ  ได้รับโล่เกียรติยศพร้อมเงินรางวัลๆ ละ 10,000 บาท   ซึ่งทั้ง 4 ผลงานที่ได้รับมอบรางวัลนี้สามารถต่อยอดเพื่อนำไปสู่การจดสิทธิบัตรหรือรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ดำเนินการโดยสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (INNOTECH) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลและบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังอาจจะได้รับคัดเลือกจากผู้ที่เข้าชมงานในการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือนำผลงานไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ได้ต่อไป

       จากความสำเร็จเกินคาดสำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งแรกนี้ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยต่อว่า ในเร็วๆ นี้จะมีการเปิดอบรมอีกครั้ง คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากนั้นจะมีการวางแผนการจัดโครงการในปีหน้า ซึ่งมีความตั้งใจจะจัดโครงการให้สมบูรณ์มากขึ้น เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการ Startup ที่สมบูรณ์ขึ้น ทั้งนี้ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยังได้ให้มุมมองเกี่ยวกับกระบวนการคิดของเด็กไทยว่า การศึกษาไทยควรเริ่มพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์มากขึ้น คือการคิดวิเคราะห์และสามารถมองเห็นปัญหา เพื่อตั้งเป็นโจทย์ในการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นการสร้างคนให้มีความคิดแบบ Entrepreneur ตั้งแต่ต้นทาง แทนที่จะพัฒนาในช่วงหลังจบอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาบุคคลากรของประเทศสู่กระบวนการคิดแบบ Design Thinking ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับของการสร้างผู้ประกอบการ Startup ในอนาคตนั่นเอง

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.