เราเรียก “ราศีเมถุน” หรือ “ราศีมิถุน” กันแน่
จากเพจ ดูดวงกับหมอโย
ก่อนที่เราจะไปรู้จักคำว่าราศีเมถุน หรือ ราศีมิถุน ซึ่งเป็นคำในภาษาสันสกฤต เราต้องปูพื้นฐานความเข้าใจด้านภาษาและการวิเคราะห์ตัดสินถูกหรือผิด ให้ตรงกันก่อนว่า ภาษาสันสกฤต กับ ภาษาบาลี จัดว่าเป็นคนละภาษากัน (ถึงคนไทยเราจะชอบเรียกรวมกันก็เถอะ) แต่มีรากเหง้าอยู่ที่ประเทศอินเดียเหมือนกัน ในแง่การวิเคราะห์คำทางภาษาเราควรรู้ว่า คำที่มีการสะกดหรือมีการออกเสียงเดียวกัน มีความหมายของภาษาหนึ่ง จะนำมาใช้ตัดสินอีกภาษาหนึ่ง ว่ามีความหมายที่ผิดไม่ได้ หรือความเชื่อในสิ่งเดียวกันตามวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งจะนำมาวิจารณ์ ว่าความเชื่อในอีกอีกประเทศหนึ่งผิดไม่ได้
เช่นความเชื่อเรื่อง “ครุฑ” ของไทยเราเชื่อว่าพระนารายณ์จะประทับด้วยการยืนบนหลังครุฑ แต่ความเชื่อของชาวอินโดนิเซีย เชื่อว่าพระนารายณ์ทรงขี่คอครุฑ ไม่ได้ยืนเหมือนไทย เป็นความแตกต่างด้านความเชื่อและวัฒนธรรม แม้จะมีที่มาจากอินเดียเหมือนกัน แต่ไทยเราไม่มีสิทธิ์ไปบอกว่าอินโดนิเซียผิด เพราะเป็นความเชื่อและวัฒนธรรมของเขา และอินโดนิเซียก็ไม่มีสิทธิ์ว่าไทยมีความเชื่อที่ผิดไปเช่นกัน ให้ถือว่าเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่เราควรเรียนรู้และเคารพในความแตกต่างของกันและกัน
ในทางภาษาก็เช่นเดียวกัน ภาษาสันสกฤต เป็นภาษาของชนชั้นพราหมณ์ มีต้นกำเนิดจากเผ่าอารยัน ที่นำภาษานี้เข้ามาพร้อมกับคัมภีร์พระเวท และวิชาโหราศาสตร์ ปรากฏอยู่ในบทสวดในคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู หรืออาจจะกล่าวได้ว่าภาษาสันสฤต เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกับเทพเจ้าตามความเชื่อของ ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู ภาษาสันสกฤตมีพยัญชนะ 34 ตัว สระ 14 ตัว
ส่วนภาษาบาลี เป็นหนึ่งในภาษาชนชั้นล่างเช่นเดียวกับภาษาปรากฤต เชื่อว่ามีต้นกำเนิดอยู่ในแคว้นมคธ เป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัสเพื่อเผยแผ่คำสอนศาสนา และบันทึกในพระไตรปิฏกเป็นภาษาบาลี แบ่งเป็นพยัญชนะ 33 ตัว และสระ 8 ตัว
ด้วยจำนวนตัวอักษรและสระไม่เท่ากัน จึงเป็นข้อชัดเจนอย่างหนึ่งว่า สันสกฤต และ บาลี เป็นคนละภาษา ประเทศไทยของเรารับทั้ง 2 ภาษานี้มาจาก 2 ช่องทาง ภาษาบาลีมาจากพุทธศาสนา ภาษาสันสกฤต มาจากฮินดู แล้วมีการหยิบยืมคำจากทั้ง 2 ภาษา มาใช้ในภาษาไทย จึงเรียกคำที่ไม่ใช่ไทยแท้ ว่าเป็นคำมาจากภาษาบาลี-สันสกฤต แบบเหมารวมกันเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าคำนี้มาจากภาษาทางอินเดีย
แต่ด้วยความที่ ภาษาสันสกฤต และ บาลี ใช้กันอย่างแพร่หลายที่ประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาล จึงมีการหยิบยืมคำมาใช้และเขียนในรูปแบบของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นทางบาลีหยิบยืมจากสันสกฤต เสียมากกว่า เพราะศาสนาฮินดูและภาษาสันสกฤษมีความเก่าแก่กว่าพุทธศาสนานับพันปี
ภาษา”บาลี” เข้ามาทางศาสนาพุทธ และมาพร้อมกับระบบปฏิทินจันทรคติ เรียกชื่อเดือนเป็นเดือน 1-12 หรือ เรียก ขานวันเป็นข้างขึ้น ข้างแรม หรือไทยเราเรียกเป็นเดือนอ้าย ถึง เดือน 12 ไม่มีคำว่า เดือนมิถุนายน ราศีเมถุน หรือ ราศีมิถุน ในการนับเดือนทางภาษาบาลีหรือพุทธศาสนา ที่ใช้ระบบปฏิทินจันทรคติ แต่มีการใช้คำว่า “เมถุน” หรือ “เสพเมถุน” หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์และใช้กับพระภิกษุเท่านั้น
ส่วนทางภาษา “สันสกฤต” เข้ามาทางพราหมณ์ – ฮินดู ซึ่งมาพร้อมกับวิชาโหราศาสตร์อินเดีย นำระบบปฏิทินสุริยคติ เรียกชื่อเดือนตามราศีดวงดาว ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม มีการเรียกชื่อเดือนมิถุนายน เป็นราศีเมถุน หรือ ราศีมิถุน ดังนั้นการเรียกชื่อราศีเมถุน ตามหลักการเรียกชื่อเดือนทางโหราศาสตร์ ที่ใช้ภาษาสันสกฤต จึงไม่ผิดแต่ประการใด เพราะเป็นการเรียกตามพื้นฐานภาษาสันสกฤต ไม่เกี่ยวข้อง กับ ทางภาษาบาลี
อีกอย่างหนึ่ง คำว่า “เมถุน” ในภาษาสันสกฤต หมายถึง “คนคู่” หรือการเรียกชื่อเดือนคนคู่ ไม่ได้หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ตามภาษาบาลี และอีกหลักฐานหนึ่งที่ยืนยันว่าเราสามารถเรียกราศีเมถุนได้ คือการอธิบายของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งชี้แจงว่าว่า “เมถุน” ในภาษาไทยมี 2 คำ “เมถุน” คำแรกมาจากภาษาบาลี แปลว่า การมีเพศสัมพันธ์ “เสพเมถุน” (ใช้เฉพาะกับภิกษุ) ส่วน “เมถุน” อีกคำหนึ่ง มาจากภาษาสันสกฤต เรียกว่า “ราศีเมถุน” คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตว่า “มิถุน” (อ่านว่า มิ-ถุ-นะ) แปลว่า คู่ ฝาแฝด
มาถึงจุดนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า ทางสันสกฤตสะกดทั้ง มิถุน และ เมถุน ได้อย่างไร ข้อนี้มีคำอธิบายในทางภาษาว่า การใช้ภาษาในชีวิตประจำวัน จะมีบางคำที่สามารถแผลงเสียงออกไปจากคำเดิม แต่ยังคงความหมายเดิมได้ ตราบใดที่การแผลงเสียง หรือแผลงคำใหม่นั้น ยังไม่ตรงกับคำใดที่มีความหมายในภาษาเดียวกัน เช่น มารดา แผลงเสียงเป็น มารดร หรือ บิดา กับ บิดร แผลงแล้วก็ยังคงความหมายเดิมอยู่เพราะไม่ตรงกับคำที่มีความหมายอื่นในภาษานั้น
ในกรณีของคำว่า มิถุน กับ เมถุน ในทางภาษาสันสกฤตก็เช่นกัน แค่แพลงเสียง แผลงคำ แต่ความหมายยังคงเดิม แม้แผลงไปแล้วจะไปตรงกับภาษาบาลี ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะถือว่าเป็นคนละภาษากัน ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
ดังนั้นการเขียน “ราศีเมถุน” และ “ราศีมิถุน” สามารถเขียนตามหลักภาษาสันสกฤตได้ทั้งคู่ แต่ระยะหลังเริ่มมีการใช้คำว่า “ราศีมิถุน” แทน “ราศีเมถุน” กันมากขึ้น เพราะกลัวว่าคนจะไปสับสนกับคำว่า “เสพเมถุน” ทั้งที่จริงแล้ว “ราศีเมถุน” คือเดือนคนคู่ มีความหมายตามภาษาสันสกฤตแค่นั้น ไม่มีความหมายถึงการร่วมเพศตามภาษาบาลีแต่อย่างใด