พิพิธภัณฑ์ พัฒน์พงศ์ ดงเรื่องเล่า
แต่หากคุณกำลังคิดว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีแต่ความรู้เรื่องเซ็กส์ คุณอาจจะพบกับความผิดหวังกลับไปเพราะอย่างไรก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ ก็ต้องเป็นแหล่งความรู้ที่บอกเล่าเรื่องราวอย่างรอบด้านของย่านพัฒน์พงศ์ ที่ไม่ได้มีแค่ผับบาร์ และอาชีพขายบริการทางเพศ แต่ยังมีเรื่องราวตั้งแต่สมัยสงครามโลก ไปจนถึงการสร้างชื่อเสียงของย่านนี้ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
โดยตัวพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งออกเป็น7 โซนแต่เรื่องเซ็กส์นั้นมีอยู่ แค่ 2 โซนเล็กๆ ที่พอจะบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าสาวขายบริการ และเรื่องลับทางเพศที่ยังมีอีกหลายคนไม่เคยรู้ว่า รสนิยมทางเพศของมนุษย์นั้นมีหลากหลายกว่าที่เราคิด
“ตอนที่เราเปิดพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ เราประสบปัญหาอยู่สองอย่างคือ วิกฤตโควิด-19 และสำนักงานเขตคิดว่าเราเป็นสถานบันเทิงเหมือนกับผับบาร์อื่น ไม่เชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่นอกเหนือคำสั่งปิดสถานบริการของรัฐบาล จนกระท่ังเราต้องเชิญเจ้าหน้าที่มาตรวจดูถึงรู้ว่าเราเป็นพิพิธภัณฑ์จริงๆ” วิทยากรนำชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้บอกเล่ากับนักท่องเที่ยว ถึงพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่พึ่งเปิดให้บริการได้ไม่นานนัก ก่อนจะนำชมและเริ่มการบรรยายเรื่องราวของแต่ละโซนได้อย่างน่าสนใจ
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้แบ่งโซนจัดแสดงนิทรรศการหลัก 7 โซน ซึ่งจะมีรอบการนำชมพิพิธภัณฑ์ ตามจำนวนผู้เข้าชมหรือเวลาที่ทางพิพิธภัณฑ์กำหนด ซึ่งจะใช้เวลาในการเดินชมนิทรรศการประมาณ 60 – 90 นาที และเราแนะนำให้รอรอบการนำชมของวิทยากร จะทำให้เรารับรู้เรื่องราวของสถานที่แห่งนี้ได้ดียิ่งขึ้น
โดยโซนแรก จะบอกเล่าเรืื่องราวของ หลวงพัฒน์พงศ์พานิช (ตุ้น แซ่ผู่) ชาวจีนไหหลำ อพยพเข้ามาในประเทศไทย ที่ทำงานก่อร่างสร้างตัวจนได้รับสัมปทานทำเหมืองดินขาวส่งให้ปูนซีเมนต์ไทย และเป็นผู้ที่ซื้อที่ดินในย่านพัฒนพงศ์ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นป่ากล้วยชานเมืองในยุคสมัยนั้น ซึ่งเราจะได้เห็นโมเดลจำลองพื้นที่และที่มาที่ไปของที่ดินผืนนี้ ตั้งแต่ยังไม่มีราคาค่างวดจนกระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทย
โซนที่สองบอกเล่าเรื่องราวของตระกูลพัฒน์พงศ์พานิช จนกระทั่งถึงรุ่น อุดม พัฒน์พงศ์พานิช ผู้ริเริ่มพัฒนาที่ดินของครอบครัว ตัดถนนผ่ากลางที่ดินตัวเอง เพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ และตั้งชื่อว่า “ซอยพัฒน์พงศ์” และกลายเป็นที่มาของพื้นที่ซอยพัฒน์พงศ์จนถึงปัจจุบัน
โซนที่สามจัดว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นเรีื่องราวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงการตั้งฐานลับซีไอเอ ในพััฒน์พงศ์ โดยมีหัวหน้าซีไอเอคนแรกในประเทศไทยอย่างนาย จิม ทอมป์สัน สงครามลับในลาว และกระบวนการต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ในแถบเอเชียโดยมีรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อยู่เบื้องหลัง ในตึกหมายเลขหนึ่งของพัฒน์พงศ์ และในย่านนี่แห่งที่เป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานบริษัทข้ามชาติแห่งแรก จนกลายเป็นที่มาที่ทำให้พื้นที่บริเวณโดยรอบกลายเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานใจกลางเมืองย่านสีลมและสาทรในเวลาต่อมา
โซนที่สี่ เป็นการการจัดแสดงแบบจำลองอาคารของถนนพัฒน์พงศ์ตามผังปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นฮวงจุ้ยและอาคารที่เคยเป็นที่ตั้งของซีไอเอในประเทศไทย และเรื่องราวความลับบางอย่างที่หาอ่านไม่ได้ในหนังสือและอินเทอร์เนต
โซนที่ห้า เป็นโซนการจัดแสดงประวัติที่มาของบาร์อะโกโก้ แห่งแรกในไทย ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับการเข้ามาของนักธุรกิจข้ามชาติ ที่หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และตั้งสำนักงานในย่านพัฒน์พงศ์
โซนที่หก เป็นโซนที่ถูกจัดจำลองเหมือนบาร์ในอดีต ซึ่งโซนนี้เป็นโซนที่มีการอธิบายการจัดวางและระบบการทำงานของบาร์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
โซนที่เจ็ด เป็นโซนการจัดแสดงชุดภาพถ่ายของคนทำงานขายบริการทางเพศ Sex Toy วิดีโอปิงปองโชว์ โชว์พิสดารอื่น ๆ ที่กลายเป็นจุดขายของธุรกิจสถานบันเทิงของพัฒน์พงศ์
หลังจบการเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ผมแนะนำว่าควรหาโอกาสมาเยี่ยมชมสักครั้งในชีวิต อย่าปิดกั้นความคิดว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีส่วนแสดงธุรกิจขายบริการทางเพศ จะยัดเยียดให้เรายอมรับธุรกิจสีเทา แต่การรับรู้เราจะได้อีกรับรู้อีกมุมหนึ่งของสังคมที่เราไม่เคยเปิดใจรับฟังมาก่อน แต่ฟังจะตัดสินอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับใจของเราเอง
เพราะแต่ไหนแต่ไรมาธุรกิจขายบริการทางเพศ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์โลกมายาวนาน เราอาจจะได้ยินชื่อสถานบริการเหล่านี้ในนามของ สำนักโคมเขียว, สำนักโคมแดง, โรงรับชำเราบุรุษ, โรงโสเภณี, โรงหญิงนครโสเภณี หรือชื่ออื่นที่บ่งบอกถึงความเป็นสถานบันเทิงของชายหนุ่ม ที่ยังเป็นธุรกิจถูกกฎหมายมีการเสียภาษีให้แก่รัฐ จนถึงยุคสมัยที่การค้าประเวณีเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตามมติขององค์การสหประชาชาติ เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ที่แอบแฝงมากับธุรกิจเหล่านี้ จนปัจจุบันกลายเป็นบริการ แอบแฝงไปกับธุรกิจอื่นเช่น อาบ อบ นวด หรือแม้กระทั่งเปิดขายบริการผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในโลกออนไลน์
อย่างไรก็ดี ความรู้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มอบให้คือเรื่องราวที่หาอ่านไม่ได้ในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่หนังสือก็อาจจะบอกเล่าได้ไม่ครบเช่นที่ปรากฏในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับ ไมเคิล เมสเนอร์ (Mr.Michael Messner) เจ้าของธุรกิจร้านอาหารในย่านพัฒน์พงศ์ ที่ได้เก็บเรื่องเล่าจากลูกค้าที่บางคนเคยเป็นทหารผ่านศึกเวียดนาม เป็นซีไอเอที่อยู่ในประเทศไทย และผู้มีอิทธิพลในย่านนั้น และนำเอาเรื่องเหล่านี้มาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติม สะสมร่องรอยประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 ปี รวมถึงเกร็ดความรู้ ความเป็นมา เป็นไป เรื่องราวชีวิตของคนอาชีพหนึ่งที่สังคมมองข้าม มาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีคุณค่าแห่งนี้.
อัตราค่าเข้าชม ค่าเข้าชม 350 บาทต่อท่าน (ไม่รวมเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่บาร์ของพิพิธภัณฑ์)
โปรโมชั่นซื้อบัตรเข้าชม 1 ใบ แถม 1 ใบ พร้อมรับเครื่องดื่มชา กาแฟ ฟรี
พิพิธภัณฑ์พัฒน์พงศ์เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 20.00 น. ที่พัฒน์พงศ์ซอย 2 (ตรงข้าม Food Land )
หมายเหตุ ราคาและโปรโมชั่นอาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า สามารถสอบถามราคาได้ที่ www.facebook.com/patpongmusuem