Readspread.com

News and Article

ยูดีดีซี เสนอทางออก “เมืองเดินได้” และ “เมืองกระชับ” แก้วิกฤตมลภาวะอากาศจากฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน

“ถ้าเอารถยนต์เอาจากถนนไม่ได้ เราจะไม่มีวันได้อากาศที่ดีคืนมา” ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ชี้สาเหตุปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 เกิดจากรถยนต์บนท้องถนน

หากเมืองไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากการจราจรได้สำเร็จ ก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหามลภาวะอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างยั่งยืน ชี้ข้อมูลสำคัญกรุงเทพฯ มีปริมาณรถยนต์ล้นพื้นที่ถนน ต้นเหตุปล่อยมลภาวะเท่าตึกมหานคร 23 ตึกต่อปี ชี้ 2 ทางออกสำคัญ สร้าง “เมืองเดินได้” ส่งเสริมผู้คนใช้การสัญจรด้วยการเดินเท้า-ปั่นจักรยาน เชื่อมต่อขนส่งมวลชนคุณภาพ และสร้าง “เมืองกระชับ” บ้านใกล้งาน งานใกล้บ้าน เพื่อแก้ไขมลภาวะอากาศยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) กล่าวว่า ปัญหามลภาวะทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีสาเหตุสำคัญจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์บนท้องถนน ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปริมาณรถยนต์มหาศาลสวนทางกับสัดส่วนพื้นที่ถนน ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดและยิ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นซ้ำเป็นประจำทุกปี โดนเฉพาะช่วงปลายปีถึงต้นปี

“ข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ตัวเลขรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ มีสูงถึง 11 ล้านคันและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงปีละกว่า 300,000 คัน หรือร้อยละ 17 ซึ่งสูงกว่าทุกเมืองในโลก ขณะที่ข้อมูลของ UddC-CEUS ยังชี้ว่า สัดส่วนรถยนต์ในกรุงเทพฯ ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ถนน ที่มีเพียงร้อยละ 7

ขณะที่เมืองที่ดีควรมีพื้นที่ถนนร้อยละ 25-30 ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบกับ เป็นเมืองที่ผู้คนต้องพึ่งพารถยนต์ตลอดเวลา จึงทำให้กรุงเทพฯ มีสภาพการจราจรติดขัด ทั้งนี้ ยิ่งรถติดยิ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 2 เท่า

ข้อมูลชี้ว่าเมื่อรถติดจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ 400 กรัม ต่อ 1 กิโลเมตร ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยบอกว่า รถยนต์ในกรุงเทพฯ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเท่ากับตึกมหานคร 23,000 ตึกต่อปี ซึ่งเป็นปัญหาของเมืองที่น่ากังวลและต้องเร่งหาทางออกอย่างเร่งด่วน” ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ชี้สาเหตุ

อย่างไรก็ตาม การศึกษาของโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (Goodwalk) โดย UddC-CEUS ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า คนกรุงเทพฯ ยินดีเดินเท้าในระยะ 800 เมตร ซึ่งเทียบเท่าผู้คนในเมืองพัฒนาแล้ว อาทิ ฮ่องกง โตเกียว นิวยอร์ก ฯลฯ

จึงควรสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูเมืองเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนหันมาเลือกวิธีการสัญจรด้วยการเดินเท้าและปั่นจักรยาน พร้อมกับพัฒนาระบบขนส่งมวลชนคุณภาพ อันเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“UddC-CEUS มีข้อเสนอแนวทางแก้ไขมลภาวะทางอากาศ 2 ประการ ข้อแรก ส่งเสริมให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเดินทาง นั่นแปลว่าต้องส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้รถยนต์ (non-motorized transportation) อย่างการเดินเท้าและการปั่นจักรยาน

ข้อสอง เมืองต้องลดการเดินทางของผู้คน ต้องเป็นเมืองกระชับ (compact city) ที่บ้านและงานอยู่ไม่ไกลกัน ภายในย่านมีทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งงาน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แหล่งจับจ่ายใช้สอย เพื่อเอื้อให้ผู้คนใช้ชีวิตในย่านนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไกล หรือถ้าต้องการเดินข้ามย่าน ก็ใช้ระบบขนส่งมวลชนคุณภาพ

ปัญหามลภาวะทางอากาศถือเป็น wake up call ที่ทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัว และยอมรับว่าปัญหาเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” ผศ.ดร.นิรมล ทิ้งท้าย

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.