ห้องสมุดมีชีวิต” ในค่ายทหาร
ทีเค พาร์คจับมือแม่บ้านทหารบกติดอาวุธทางปัญญา
เปิด “ห้องสมุดมีชีวิต” ในค่ายทหาร 8 แห่งทั่วไทย
นับแต่จุดเริ่มต้นที่สมาคมแม่บ้านทหารบกร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้ (TK park) ลงนามข้อตกลงร่วมกันภายใต้ “โครงการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหาร” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในค่ายทหาร นำมาซึ่งการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหารทั่วประเทศจำนวน 8 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2560 นำทัพด้วยการเปิดบริการอุทยานการเรียนรู้ค่ายกัลยาณิวัฒนา กรมทหารราบที่ 151 จังหวัดนราธิวาส และห้องสมุดมีชีวิต วีรปัญญา ค่ายสิรินธร กรมทหารราบที่ 152 จังหวัดยะลา ในช่วงต้นเดือนกันยายน และล่าสุดคือการเปิดบริการอย่างเป็นทางการของห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหาร“ศูนย์การเรียนรู้กรมการทหารช่าง” (Army Engineer Knowledge Park หรือ AEK park) กรมการทหารช่างจังหวัดราชบุรีในวันที่ 25 กันยายน 2560 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับกำลังพล ตลอดจนบุตรหลานและครอบครัว รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน อบรมทักษะการเรียนรู้ต่างๆ อันเป็นการติดอาวุธทางปัญญาอย่างแท้จริง
นางเบญจวรรณ สิทธิสาท นายกสมาคมแม่บ้านทหารบกและประธานในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้กรมการทหารช่าง (Army Engineer Knowledge Park) หรือ AEK park กล่าวว่าสมาคมแม่บ้านทหารบกมีภารกิจสำคัญประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ให้กับกำลังพล ตลอดจนครอบครัว และบุตรหลานเพื่อสร้างโอกาสและอนาคตให้กับประเทศชาติ จึงทำให้เกิดโครงการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหารขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ ภายใต้แนวคิดห้องสมุดมีชีวิต ให้เกิดขึ้นในค่ายทหารทั่วประเทศ โดยมีจุดเริ่มต้นจากลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้หรือ TK park หน่วยงานสังกัดสำนักงานบริการและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา
โครงการห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหาร ที่จะดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกันในปีนี้มีทั้งสิ้น 8 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ 1) กรมทหารราบที่ 151 ค่ายกัลยาณิวัฒนา จังหวัดนราธิวาส (เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว) 2) กรมการทหารช่างจังหวัดราชบุรี 3) กรมทหารราบที่ 152 ค่ายสิรินธร จังหวัดยะลา (เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว) 4) กองพลทหารราบที่ 6 ค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จังหวัดร้อยเอ็ด 5) กรมทหารราบที่ 16 ค่ายบดินทรเดชา จังหวัดยโสธร 6) กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ กรุงเทพมหานคร 7) กรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ กรุงเทพมหานคร 8) กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี จังหวัดปราจีนบุรี โดยในปีนี้ (2560) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้จำนวน 7 แห่ง สำหรับอีก 1 แห่งคือ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายพรหมโยธี จังหวัดปราจีนบุรี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561
นายอธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่าการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัยตามรูปแบบแนวความคิดห้องสมุดมีชีวิตให้ขยายออกไปสู่จังหวัดต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยเป็นภารกิจสำคัญของ TK park ที่ผ่านมาได้ดำเนินการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆทั้งในส่วนองค์กรท้องถิ่น สถาบันการศึกษารวมทั้งภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้ทำความร่วมมือกับหน่วยงานภายในสังกัดกองทัพบกดำเนินการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้จำนวน 2 แห่ง คือ อุทยานการเรียนรู้ศูนย์การศึกษากองทัพภาคที่ 2 (SR park) ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และ ศูนย์สร้างสรรค์ปัญญา (WCC) กองพันทหารสื่อสารที่ 101 กรมทหารสื่อสารที่ 1 ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน จังหวัดสมุทรสาคร โดยศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 2 แห่งประสบความสำเร็จในการดำเนินงานเป็นอย่างดี จึงเป็นที่มาของการขยายผล “โครงการพัฒนาห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหาร” ไปสู่ค่ายทหารอื่นๆ ทั่วประเทศดังกล่าว
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ TK park ได้ทำหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ภายใต้แนวคิดห้องสมุดมีชีวิต ตั้งแต่ด้านกายภาพ ด้านหนังสือและสื่อการเรียนรู้ด้านการพัฒนา ศักยภาพบุคลากร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านกิจกรรม และด้านการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบ “ห้องสมุดมีชีวิต” อย่างแท้จริง
ด้าน พันเอกพิเชษฐ์ เพ็ชรอินทร์ ผู้บังคับกองพันทหารช่างเครื่องมือพิเศษ กล่าวถึงการดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กรมการทหารช่าง (AEK park)แห่งนี้ว่า กองพันทหารช่างเครื่องมือพิเศษได้เริ่มหารือกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 จากนั้นได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโดยใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดให้บริการกับกำลังพลบุตรหลาน และครอบครัว ตลอดจนชุมชนบริเวณใกล้เคียงได้อย่างเป็นทางการโดยศูนย์การเรียนรู้กรมการทหารช่าง (AEK park) ตั้งอยู่ภายในค่ายบุรฉัตรมีพื้นที่ให้บริการประมาณ 300 ตารางเมตรประกอบด้วย Reading Park, ห้องสมุดเด็ก ห้องเงียบ ห้องอบรมอเนกประสงค์ ห้องประชุมและมุมกาแฟ
สุดท้าย นางพอฤดี โมกขะสมิต ประธานสมาคมแม่บ้านทหารบก สาขากรมการทหารช่าง กล่าวว่าการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้กรมการทหารช่าง (AEK park) มีความสำคัญต่อกำลังพล ตลอดจนบุตรหลาน และครอบครัวของเหล่าทหาร เพราะนอกจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้แล้วยังเป็นพื้นที่สำหรับการแสวงหาความรู้อย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กำลังพลตลอดจนชุมชนบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย