Readspread.com

News and Article

U.มี Ideas

คอนเทนท์ไหน แพลตฟอร์มใด โดนใจวัยรุ่นไทยยุค 4.0

ในยุคของไทยแลนด์ 4.0 เทคโนโลยีถือว่าเป็นสิ่งที่มีบทบาทและมีความสำคัญอย่างมาก เพราะถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมของผู้ชมเปลี่ยนแปลงไป หลังเกิดช่องทางใหม่ๆ ในการรับชมที่มากขึ้น และสามารถรับชมได้ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ส่งผลให้ผู้บริโภครับชมทางโทรทัศน์น้อยลง ดังนั้น สถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง รวมทั้งผู้ผลิตคอนเทนท์เองก็ต้องปรับตัว โดยใช้คอนเทนต์มาเป็นกลยุทธ์เรียกเรตติ้ง  ในรูปแบบของ Content is King ด้วยการปรับคอนเทนท์รายการให้มีคุณภาพ มีความน่าสนใจ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมให้มากที่สุด นอกจากคอนเทนท์ที่สำคัญแล้ว แพลตฟอร์มในการนำเสนอก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีทำให้เกิดช่องทางในการรับชมใหม่ๆ ทั้งอุปกรณ์ในการรับชม อาทิ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือแม้กระทั่งการรับชมผ่านทางโซเชียลมีเดีย และแอพลิเคชั่นต่างๆ ดังนั้น อำนาจในการเลือกรับชมจึงตกอยู่ในมือของผู้ชมเป็นหลัก

            อสมท ในฐานะของสื่อสารมวลชน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการรับสารในปัจจุบัน โดยเฉพาะความสำคัญของคอนเทนท์รายการที่จะถูกนำเสนอให้กับผู้ชม โดย อสมท มุ่งสร้างสรรค์คอนเทนท์ที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับสาระประโยชน์ที่ผู้ชมจะได้รับ เพื่อมุ่งสร้างสังคมอุดมปัญญา จึงได้จัดกิจกรรม CSR ในชื่อโครงการ “U.มี Ideas” ขึ้นเพื่อให้น้องๆ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่สนใจและอยากเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ในอนาคตได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพและสร้างสรรค์ ซึ่งน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองการผลิตคอนเทนท์รวมทั้ง แพลตฟอร์มหรือช่องทางในการนำเสนอคอนเทนท์ในปัจจุบันเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ

          ส้ม-ธันยพร นิลพังงา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สวนสุนันทา ให้ความเห็นว่า “การนำเสนอคอนเทนท์ในปัจจุบันมีความหลากหลาย  ทั้งเนื้อหาและช่องทางการนำเสนอโดยในบางคอนเทนท์นอกจากจะออกอากาศผ่านสื่อหลักอย่างโทรทัศน์แล้ว ยังออกอากาศผ่านโซเชียลมีเดียเพิ่มอีกช่องทางด้วย ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้ชมเอง เพราะในบางครั้งผู้ชมอาจไม่สามารถรับชมผ่านโทรทัศน์ในเวลา ที่รายการนั้นๆ ออกอากาศได้ ในขณะเดียวกัน คอนเทนต์ที่ผลิตเพื่อออกอากาศผ่านโซเชียลมีเดียเพียงช่องทางเดียวอาจจะมีการตรวจสอบความเหมาะสมน้อยกว่าคอนเทนท์ที่ออกอากาศผ่านสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ ซึ่งหากผู้รับสารขาดการกลั่นกรองที่ดีอาจส่งผลเสียต่อกลุ่มคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันในการรับสื่อ เช่น เยาวชนได้”

           นุ๊ก-นรา วรหิรัญ นักศึกษาปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมมองว่ารูปแบบการนำเสนอต้องเหมาะสมกับช่องทางสื่อหรือแพลตฟอร์มที่ใช้ “การเล่าเรื่องของสื่อโทรทัศน์ จะมีการเกริ่นนำเรื่องเพื่อโยงไปสู่จุดสำคัญตรงกลางเรื่อง แต่โซเชียลมีเดีย ต้องนำเสนอแบบกระชับเพื่อดึงดูดผู้ชมตั้งแต่เริ่มต้น  และมักเป็นเรื่องตามกระแสนิยม หรือเชิงธุรกิจ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ชมมากนัก  ซึ่งถ้าผมได้เป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ จะผลิตสารคดี ที่มีรูปแบบแตกต่างจากปัจจุบันและสามารถนำมาออกอากาศได้ทุกช่องทาง ทั้งสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ และสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อตอบสนองผู้ชมทุกกลุ่ม โดยนำเรื่องใกล้ตัว อาทิ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และพลังงาน มาผลิต เพราะคิดว่าการรับชมรายการของคนไทยยังเน้นเรื่องของสังคมอยู่”

          ซาซ่า-นภิสา หะยีวาจิ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อีกหนึ่งมุมมองเกี่ยวกับแพลตฟอร์มในการนำเสนอคอนเทนท์ที่มีให้ชมในปัจจุบัน “คอนเทนท์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความน่าสนใจ โดยเน้นให้ความบันเทิงเพื่อเอาใจผู้ชมและมีเนื้อหาที่สามารถรับชมได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนการนำเสนอคอนเทนท์ ปัจจุบันจะนำเน้นผ่านทางสื่อออนไลน์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ชม เพราะเป็นการเพิ่มช่องทางการรับชมที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ชมในยุคปัจจุบันด้วย ซึ่งสื่อออนไลน์จะมีความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูลและไม่มีโฆษณาคั่นระหว่างชม รวมทั้งสามารถเลือกเปิดรับสารได้เอง ตลอดจนสามารถรับชมได้ทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย”

            นี่คือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นและมุมมองต่อสื่อในยุค 4.0 จากคนรุ่นใหม่ที่เป็นทั้งผู้ชมและผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งเป็นเสียงสะท้อนได้อย่างดีว่าการออกอากาศหลากหลายแพลตฟอร์มเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เพราะแต่ละแพลตฟอร์มมีข้อดีที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับผู้ชมเลือกเปิดรับสารผ่านช่องทางใด แต่ถึงแม้แพลตฟอร์มที่นำเสนอจะดีอย่างไร คอนเทนท์ที่นำเสนอจะต้องมีประโยชน์หรือสร้างสรรค์กับสังคมด้วยเช่นกัน ซึ่งน้องๆ ที่ร่วมอบรมในโครงการ U. มี IDEAS จะขอเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ใช้ประสบการณ์ ที่ได้จากในการเข้าร่วมอบรมในโครงการ มาแสดงพลัง สร้างสรรค์ ผลงานรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิด “๙ ตามพ่อ สานต่อพระราชปณิธาน” เพื่อส่งผลงานชิงรางวัล MCOT AWARDS 2017 อีกด้วย  ร่วมเป็นกำลังใจ และติดตามแนวคิดการผลิตคอนเทนต์คุณภาพของเยาวชนหัวคิดสร้างสรรค์ได้ในเดือนกันยายนนี้ หรือติดตามความเคลื่นไหวต่างๆ ของกิจกรรมได้ที่ เฟสบุ๊กแฟนเพจ U.มี IDEAS

About Post Author

เขียนความคิดเห็น

Copyright © Readspread.com ติดต่อฝ่ายข่าว Tel.089-922-7859 Email/[email protected] | Newsphere by AF themes.