กู๋แมธธ์ สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย นักบำบัดแบรนด์ เปลี่ยนแบรนด์ป่วยให้เป็นแบรนด์ปัง
กู๋แมธธ์ สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย นักการตลาดและนักสร้างแบรนด์ ที่เคยฝากผลงานให้กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง หลากหลายประเภทธุรกิจทั้งในและต่างประเทศมากมาย กล่าวว่า ทุกวันนี้มีหลายแบรนด์ที่มีอาการป่วยอยู่ในขั้นสูญเสียอัตลักษณ์ หาแนวทางของตัวเองไม่เจอ เพราะการมาของโซเชียลมีเดีย การตลาดแบบ 4.0 ทำให้หลายแบรนด์กระโดดเข้าสู่การทำการตลาดในโซเชียลมีเดีย เพราะคิดว่าลูกค้าของเขาทั้งโลกต่างใช้ชีวิตในโซเชียลมีเดีย แข่งผลิตคอนเทนต์จนตัวตนของแบรนด์หายไป ภาพลักษณ์เปลี่ยน ไม่เป็นที่พูดถึง ไม่เป็นที่ประทับใจ แม้ลงเงินไปมากเท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่ดีขึ้นกว่าเดิม หากเจ้าของธุรกิจแบรนด์ไหนมีอาการดังกล่าว เข้าข่ายอาการที่เรียกว่า แบรนด์กำลังป่วยและต้องการเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเร่งด่วน
แบรนด์ที่แข็งแรงต้องเริ่มจากตัวตนที่ชัดเจน
“สิ่งที่เจ้าของธุรกิจในปัจจุบันที่มีปัญหากันมากที่สุดก็คือการขาดอัตลักษณ์ ไม่รู้จักตัวเองดีพอว่าคุณเป็นใคร มีบุคลิกแบบไหน จุดเด่นอะไร และกลุ่มลูกค้าของคุณเป็นใคร หลายๆ แบรนด์เอาแต่เล่นตามกระแสสังคมในโซเชียลมีเดีย จนลืมไปว่าตัวคุณเป็นใคร เห็นเขาหยาบคายแล้วมียอดวิวเยอะอยากลองเล่นหยาบดูบ้าง แต่แบรนด์คุณขายสินค้าระดับพรีเมียมแบบนี้เล่นได้ไหม สิ่งที่คุณต้องทำเป็นอันดับแรกคือหยุดการทำแบรนด์ชำเลืองหรือหยุดการมองคนอื่นแล้วตั้งสติโฟกัสในสิ่งที่คุณเป็น ” กู๋แมธธ์ เผยถึงปัญหาการทำแบรนด์ในปัจจุบันที่เกิดจากเจ้าของแบรนด์ไม่รู้จักตัวเองดีพอ ไม่รู้ว่าการสร้างแบรนด์มีความสำคัญอย่างไร
กู๋แมธธ์ อธิบายต่อว่า ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการสร้างแบรนด์มันเป็นแค่การมีโลโก้ มีชื่อที่บอกแค่ว่าอยากขายสินค้าอะไร บางคนแบรนด์กับการทำของขายคือเรื่องเดียวกัน การสร้างแบรนด์ต้องเริ่มที่การรู้จักตัวตนของคุณ มีที่มาของสินค้าว่ามาจากไหน เพราะการทำของขายต้นทางนั้นมีหลายรูปแบบ มีทั้งรับซื้อมาขาย มีทั้งของที่ไม่ได้คิดเอง รับมาจากโรงงานแล้วสวมแบรนด์ นั่นคือการทำสินค้าออกมาขาย เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดถึงปลายทางก่อนว่าจะขายยังไงให้ได้เงิน โดยซึ่งไม่ได้ถูกคิดมาตั้งแต่ต้นว่าอัตลักษณ์ของแบรนด์คืออะไร
“การทำธุรกิจแบบฉาบฉวยดีในช่วงเริ่มต้น แต่ในระยะยาวคุณจะถูกคลื่นธุรกิจซัดกลืนหายไปในเรดโอเชี่ยน”
กู๋แมธธ์ สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย
แต่ถามว่าผิดมั๊ย ผมคงบอกไม่ได้ว่าสิ่งนั้นผิดหรือถูก เพราะต้นทุนแต่ละแบรนด์ไม่เท่ากัน มีเรื่องของเงินหมุนเวียนที่ธุรกิจต้องขายสินค้าออกไปเพื่อให้ได้กำไรกลับมา โดยไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ ไม่ได้คิดถึงเรื่องการสร้างตัวตนระยะยาว เป็นการทำธุรกิจแบบฉาบฉวยดีในช่วงเริ่มต้นแต่ในระยะยาวคุณจะถูกคลื่นธุรกิจซัดกลืนหายไปในเรดโอเชี่ยน
ผู้ประกอบการกลุ่มนี้มักจะเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ทำธุรกิจอะไรแล้วรวย ทำแบบไหนถึงจะประสบความสำเร็จ แต่ไม่เคยประเมินหรือวิเคราะห์ตัวเองในสิ่งที่ทำว่าถูกต้องหรือเปล่า ไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจจากสิ่งที่ต้องการสื่อให้ลูกค้าเชื่อในสิ่งที่คุณเป็น คนที่จะทำแบรนด์ให้สำเร็จสิ่งหนึ่งที่ต้องมีก็คือ
1. รู้ขีดความสามารถของตัวเองมากน้อยแค่ไหน
2. มีความรู้พื้นฐานในเรื่องการตลาด
3. มีการอัปสกิล รีสกิล ในสายธุรกิจของตัวเองหรือไม่
4. มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และต้องเป็นวิสัยทัศน์ที่มาจากความตั้งใจ ไม่ได้ตั้งมาลอยๆ อย่างที่คุณมักจะได้ยินบ่อยๆ เช่น ฉันอยากจะประสบความสำเร็จภายใน 3 ปี อยากจะทำอย่างนี้ อย่างนั้น โดยที่ไม่ได้ประเมินศักยภาพของตัวเอง แบบนั้นมันไม่เรียกว่าวิสัยทัศน์แบบนั้นเรียกว่า “ความโลภ” ยิ่งในยุคปัจจุบันมีแบบนี้เยอะเพราะมีหลายช่องทางที่ส่งให้เขาคิดแบบนั้น เพราะการมาของโซเชียลมีเดีย
“เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงตามเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป สมัยก่อนมีการตลาดแม้ทุกวันนี้จะเป็นการตลาดยุค 4.0 แต่ถ้าแบรนด์คุณไม่ชัด ต่อให้มีเทคนิคการตลาด 5.0 ก็ไม่ช่วยให้แบรนด์คุณประสบความสำเร็จ สิ่งแรกที่เจ้าของธุรกิจควรทำเมื่อแบรนด์มีปัญหาก็คือ กลับมาตั้งสติ ดูว่าคุณได้เริ่มต้นการสร้างแบรนด์อย่างถูกต้องตามหัวข้อที่ว่าข้างต้นทั้งหมดหรือไม่ ดูว่าคุณกำลังหลงทางไปตามกระแสโซเชียลมีเดียหรือไม่ เพราะคนมักเข้าใจว่าการทำแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดียนั้นง่าย แต่ความจริงแล้วคุณกำลังถูกอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียหลอกให้คุณลงทุนซื้อโฆษณา ทำให้คุณเล่นไปตามเกมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพียงแค่เอายอดเอนเกจเมนต์ ยอดไลก์ ยอดแชร์ โดยที่คุณไม่เคยได้สร้างแบรนด์ สร้างการรับรู้แบรนด์ในส่วนที่ควรจะเป็น นั่นทำให้แบรนด์มีปัญหาระยะยาว”
การสร้างแบรนด์ไม่มีวันหยุด
“ผมเติบโตทำงานในสายนี้มาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีคำว่า “แบรนด์ดิ้ง” มีแต่คำว่าการตลาด 4P 4C เป็นเรื่องของวิชา Marketing 4P เป็นการตลาดยุค 1.0 คืออยู่ในยุคที่ไม่มีคู่แข่ง ทุกอย่างอยู่ในจุดที่เริ่มต้นผู้บริโภควิ่งหาสินค้าที่ตัวเองอยากได้นั่นคือการตลาดยุค 1.0 ต่อมาเป็นยุคการตลาด 2.0 ก็ขยับชั้นมาหน่อยที่เจ้าของแบรนด์เริ่มรู้ว่าสินค้าที่มีอยู่ควรขายให้กับใคร จริงๆ ยุค 3.0 ที่เป็นเรื่องการมาของยุคของดิจิทัล เจ้าของแบรนด์เริ่มอยากรู้ความต้องการของลูกค้าในรายละเอียดมากขึ้น ลูกค้าเริ่มต่อรองกับแบรนด์มากขึ้น
มาถึงยุค 4.0 ที่เข้าของแบรนด์ต้องวิ่งหาลูกค้าใหม่ และกอดลูกค้าเก่า พร้อมๆ กับหาวิธีให้ลูกค้ารักในแบรนด์มากยิ่งขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นการตลาดยุคไหน อนาคตข้างหน้าอีก 10 ปีจะเป็น 6.0 ก็ไม่มีประโยชน์หากเจ้าของแบรนด์ไม่มีความเข้าใจในเรื่องการตลาดและการสร้างแบรนด์จริงๆ เพราะการสร้างแบรนด์ ไม่ได้มีเพียงแค่การตั้งชื่อสร้างแบรนด์แล้วจบ แต่ แบรนด์จะมีมูลค่าที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผลได้ ต้องผ่านขั้นตอนการพัฒนาแบรนด์ และการพัฒนาแบรนด์ต้องทำทุกวัน เพราะวันนี้คุณเป็นแบรนด์ใหม่ สินค้าใหม่ แต่วันพรุ่งนี้คุณจะกลายเป็นแบรนด์เก่าและถูกลืมไปในที่สุด” กู๋แมธธ์ กล่าว
หากคุณอยู่ในแวดวงการทำธุรกิจ คุณอาจจะเคยได้ยินคำว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หมายถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดมักจะกินส่วนแบ่งการตลาดจากรายย่อยไปจนหมด แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนไป กลายเป็นยุคของ “ปลาเล็กกินปลาใหญ่” เพราะการมาของโซเชียลมีเดีย การมีระบบซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ช ที่ทำให้เจ้าของธุรกิจ SME ผู้ค้ารายย่อย มีโอกาสในการขายสินค้าที่เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ต้องปรับตัวอย่างมาก แต่วันนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ จงเป็น “ปลาไว” ปลาที่คิดก่อนทำก่อนจะประสบความสำเร็จนำหน้าคู่แข่งเสมอ และอย่าหยุดที่จะสื่อสารกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเชื่อในสิ่งที่คุณอยากให้เขาเชื่อมั่นในแบรนด์ของคุณ
“วันนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ จงเป็น “ปลาไว”
ปลาที่คิดก่อนทำก่อนจะประสบความสำเร็จนำหน้าคู่แข่งเสมอ
อย่าหยุดที่จะสื่อสารกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าเชื่อในสิ่งที่คุณอยากให้เขาเชื่อมั่นในแบรนด์ของคุณ”
แบรนด์ป่วยเพราะการตลาดสุดแปลก
คุณอาจจะเคยได้ยินคำว่า เรดโอเชี่ยน กับ บลูโอเชี่ยน ทุกคนอยากทำตลาดใน บลูโอเชี่ยน แต่ในความเป็นจริงหากวันหนึ่งคุณประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงในบลูโอเชี่ยน ไม่นานนักสิ่งที่เคยคิดว่าเป็นก็จะกลายเป็นเรดโอเชี่ยนที่จะมีคู่แข่งเข้ามาทำตลาดเดียวกัน และเมื่อคุณอยู่ในเรดโอเชี่ยน คุณจะต้องทำให้ลูกค้าเห็นคุณอยู่ตลอดว่าอยู่ตรงไหน และต้องพยายามขโมยซีน ความสนใจเพื่อความอยู่รอดในเรดโอเชี่ยน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าห้ามทำเลยก็คือ อย่าแข่งอะไรที่เป็นเรื่องยิบย่อยยกตัวอย่างสินค้าในกลุ่มสกินแคร์ วันนี้คุณบอกว่าคุณมี 10 อย่าง แต่อีกวันคู่แข่งบอกว่า ฉันมี 11 อย่าง คุณจะทำสินค้าให้มีสารประกอบ 12 อย่างเพื่อเอาชนะคู่แข่งแบบนี้ไม่ดี คุณควรทำให้แบรนด์เป็นจุดเด่น ให้ลูกค้าจดจำแบรนด์ มากกว่าที่จะจำว่าคุณมีส่วนประกอบอะไรบ้างในสินค้า ควรมองในภาพใหญ่ของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำมากว่าเรื่องเล็กๆ อย่างสินค้ามีสารเสริมมากกว่าคู่แข่ง
“ซึ่งการตลาดแบบนี้ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างแปลกๆ เช่น ยุคก่อนการตลาดจบแค่การมีแบรนด์แอมบาสเดอร์ แต่ปัจจุบันมีทั้ง บล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์ หรือแม้กระทั่งคนทั่วไปที่ทำอาชีพของตัวเอง ทำคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย อยู่ดีๆ ก็กลายเป็นคนดัง กลายเป็นวิถีชีวิตแปลกๆ ทำคอนเทนต์หยาบคาย แต่มียอดวิวสูง แบรนด์ก็ไปใช้คนกลุ่มนี้ทำการตลาดให้ แบรนด์ แต่แบรนด์วางคาแรคเตอร์ไว้ระดับบน ทำคอนเทนต์หยาบคายไม่ได้ ทั้งหมดมันกลายเป็นความสับสนที่ทำให้เจ้าของแบรนด์ไม่รู้ว่าจะบำบัดแบรนด์ของตัวเองได้อย่างไร” กู๋แมธธ์ เล่าถึงอาการป่วยของแบรนด์ที่เกิดจากการทำการตลาดในยุคปัจจุบัน
บำบัดแบรนด์ ต้องเริ่มจากตัวเอง
ถ้าแบรนด์ของคุณป่วย ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรให้กับปังกว่าเดิมที่เคยเป็น กู๋แมธธ์ ได้ให้คำแนะนำดังต่อไปนี้ การที่คุณจะบำบัดแบรนด์ ต้องบำบัดตัวเองก่อน ว่าคุณป่วยไหม ถ้าสติคุณป่วย แบรนด์ก็ป่วย คอนเทนต์ก็ออกมาป่วย แบรนด์เป็นสิ่งไม่มีชีวิต แบรนด์เกิดจากความคิดของคุณ คุณสั่งให้แบรนด์นั้นเกิด แต่สุดท้ายคุณกลับไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เพราะคุณตามเขาจนสูญเสียความเป็นตัวเอง คุณต้องออกไปหาความมั่นใจจากบุคคลภายนอก สุดท้ายผมมองว่าคุณจะทำอะไร ก็ต้องบำบัดตัวเองก่อน
ในการที่คุณจะประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ไม่ได้มีแค่เพียงการสร้าง แต่ยังมีการพัฒนาแบรนด์อีกด้วย และคุณต้องทำแบรนด์ทุกวันไม่งั้นคุณจะโดนแบรนด์อื่นแซง และหลายคนชอบคิดว่าการพัฒนาแบรนด์คือการยิงคอนเทนต์ทุกวัน แต่ความจริงแล้วการพัฒนาแบรนด์ ที่จะประสบความสำเร็จเป็นที่จดจำของลูกค้าต้องประกอบไปด้วย 5 สิ่งดังต่อไปนี้
1.มีอัตลักษณ์ของแบรนด์ หรือ Brand Identity ในสินค้าแบบเดียวกันแต่ลูกค้าเลือกคุณ เพราะคุณเป็นแบรนด์ที่มีจุดเด่น มีภาพลักษณ์ที่ดีกว่า มีความสำเร็จที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้
2.แบรนด์ต้องสามารถทักคนแปลกหน้าได้แบบรวดเร็วทันใจ แบรนด์ไหนที่สามารถทักคนแปลกหน้าได้ง่าย แบรนด์นั้นเก่ง
3.แบรนด์นั้นต้องมีความสามารถเฉพาะตัว มีความเก่งในมุมมองของสิ่งที่คุณเป็น โดยที่ไม่ลอกเลียนแบบใครหรือคนอื่นสามารถทำเหมือนคุณได้ง่าย
4. คือพลังในการสร้างเครือข่ายต้องทำให้แบรนด์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างที่สุดและเร็วที่สุดต้องทำทั้ง 2 อย่างไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งเพราะยุคนี้อยู่ในยุคการแข่งขันกันแบบฉาบฉวย
5. ความโดดเด่น ที่ไม่เหมือนใครและคนอื่นทำให้เหมือนคุณได้ยาก และคิดได้ก่อน แปลกไม่เหมือนใคร
“สิ่งเหล่านี้คือ checklist เบื้องต้นเพื่อให้เจ้าของกิจการเช็คตัวเองดูว่าพร้อมที่จะรับการบำบัดหรือยัง แบรนด์ขาดตกบกพร่องหรือยังขาดสิ่งไหนไปบ้าง ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างแบรนด์ แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คืออย่าคิดว่าลูกค้าของคุณอยู่ในโซเชียลแพลตฟอร์มทั้งหมด การทำแบรนด์ก็ไม่ได้จำเป็นต้องทำผ่านโซเชียลมีเดียเพียงอย่างเดียว ยังมีเครื่องมือและช่องทางอื่นๆ อีกมากมายที่จะช่วยทำให้คุณสร้างแบรนด์ ขอให้คุณมีจุดมั่นใจในความเป็นตัวตนของตัวเอง สามารถนิยามความหมายและบุคลิกของแบรนด์ แล้วลูกค้าจะเชื่อในสิ่งที่คุณอยากให้เขาเชื่อ จดจำและรักในตัวตนที่แบรนด์นั้นเป็น” กู๋แมธธ์ ให้ข้อคิดทิ้งท้าย
“มั่นใจในความเป็นตัวตนของตัวเอง สามารถนิยามความหมายและบุคลิกของแบรนด์ แล้วลูกค้าจะเชื่อในสิ่งที่คุณอยากให้เขาเชื่อ จดจำและรักในตัวตนที่แบรนด์นั้นเป็น”